ข้อคิดและบทความ (3)

“ กฎธรรมชาติ อยู่เหนือ กฎมนุษย์ ”

กฎทุกกฎ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ย่อมมีข้อยกเว้น
จึงมักขาดความยุติธรรม
กฎของธรรมชาติ ไม่มีข้อยกเว้น
ยุติธรรมเสมอ

ผู้มีปัญญา เป็นผู้ที่ เรียนรู้ ดำรงตน
ให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ
ปราศจากการยึดมั่นถือมั่น

เรียนรู้ธรรมชาติ รู้กฎไตรลักษณ์
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อย่างปรมัตถ์ตามความจริงสูงสุด
อย่างถึงแก่นถึงแกนเป็นที่สุด

ยส พฤกษเวช


 “ การประมวลโรค ”

บรรดาโรคภัยทั้งหลาย
ที่บังเกิดแก่บุคคลก็ย่อมบังเกิด ณ ที่ทั่วไป
ตามอวัยวะร่างกายและที่จำแนกไว้ตามธาตุ ทั้ง ๔ มี ๔๒ ประการ
ถ้าโรคเกิดขึ้นแก่ร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใด
ท่านเรียกว่าส่วนนั้นพิการ บอกสมุฏฐานด้วย
คือชี้ที่เกิดของโรค

กล่าวคือ ถ้าธาตุใดใน ๔๒ ประการ เป็นที่เกิดโรค
ก็ให้พิจารณาดูว่าสมุฏฐานใด ( ปิตตะ วาตะ เสมหะ )
กระทำโทษแก่ธาตุนั้น ๆ แล้วพิจารณาดูสมุฏฐาน ของฤดู
สมุฏฐานของอายุ สมุฏฐานของกาลเวลาที่เริ่มเจ็บไข้
สมุฏฐานของที่อยู่อาศัยสิ่งแวดล้อมที่คนไข้อยู่อาศัย
และให้พิจารณาดูสมุฏฐานของมูลแห่งเหตุที่ทำให้เกิดโรค
หรือพฤติกรรมที่ก่อโรคประกอบด้วย

การที่แพทย์จะวางยาก็ต้องวางให้ถูกต้องตามธาตุสมุฏฐานนั้น ๆ
ไม่ใช่วางยาตามชื่อโรค
เพราะชื่อโรคนั้น ๆ เป็นชื่อที่แพทย์สมมุติเรียกกันขึ้น
และเรียกกันต่อ ๆ มา ถ้าจะรักษาให้ถูกต้องแม่นยำแล้ว
ต้องตรวจตราพิจารณาตามธาตุสมุฏฐานให้แม่นมั่น

ยส พฤกษเวช



“ ทำไมหมอไทยไม่เรียน กายวิภาค ? ”

ทำไมหมอไทยไม่เรียน กายวิภาค ? เป็นคำถามที่พบบ่อย
จากบุคลลากรแพทย์แผนปัจจุบัน
หมอทุกประเภท ทุกชาติต้องเรียนกายวิภาคอยู่แล้ว
แต่แผนไทยมักไม่กล่าวถึง

เหตุเพราะว่าวิธีคิด พิจารณาแบบแผนไทย
พิจารณาอาการโรค รอยโรค บนพื้นฐาน
การเสียสมดุลของกองสมุฏฐาน (ปิตตะ วาตะ เสมหะ)
ในกองธาตุทั้ง ๔ ( ดิน น้ำ ลม ไฟ )
มิใช่พิจารณาจากการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ

อาการและรอยโรคต่าง ๆ ในคัมภีร์ บอกกล่าวถึง
สภาวะเสียสมดุลของกองสมุฏฐานในกองธาตุ
ตลอดจนตำรับยาต่าง ๆ ในคัมภีร์ เป็นตำรับยา
แก้การเสียสมดุลของกองสมุฏฐานในกองธาตุ

กองโรคเกิดในกองธาตุ
ธาตุไม่ใช่เหตุให้เกิดโรค
“ ธาตุเป็นที่ตั้งแห่งกองโรค ”

ยส พฤกษเวช


“ ครูหมอ ครูที่เป็นหมอ ”

“ ครู ” เป็นหัวใจการเรียนการสอน
การเรียนการสอนแพทย์แผนไทยในอดีต
การเรียนยึดครูเป็นศูนย์กลาง ให้เชื่อครู
ในอดีตครูหมอ ต้องเป็นหมอ ครูจึงน่าเชื่อถือ

ในปัจจุบัน ครูหมอ ไม่ใช่หมอ สอนให้เชื่อคัมภีร์
น่าจะเรียก ครูคัมภีร์จะเหมาะกว่า
ครูคัมภีร์ไม่ฝึกให้คิด พิจารณา
ได้แต่สอนให้เชื่อ (แบบผิด ๆ ตามครู) ให้ท่องจำ

การศึกษา สำคัญต่อการพัฒนา
การศึกษาที่ด้อยคุณภาพ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
ตราบใดที่มีแต่ครูคัมภีร์ ไม่มีครูหมอ
ไม่สอนให้รู้จักคิด อย่างเป็นระบบความคิด

การศึกษาแพทย์แผนไทย ก็ยากที่จะพัฒนา
ยากต่อการยอมรับ รับใช้สังคม

ยส พฤกษเวช


“ นักปฏิบัติ ”

“ นักปฏิบัติ ” คือผู้ที่ทำงาน แสวงหาความรู้จากการปฏิบัติ
ในต่างประเทศ เชื่อถือนักปฏิบัติ คำพูดมีค่าดั่งทองคำ
ในประเทศ คำพูดนักปฏิบัติ ถูกตราว่า โอ้อวด อวดรู้ เพี้ยน

นักปฏิบัติ ทำงานเพราะรู้หน้าที่ว่าควรทำ หรือ ไม่ควรทำ
ไม่ได้ทำด้วยอำนาจของตัณหา อยากได้ ใคร่เป็น
การทำงานของนักปฏิบัติจึงไม่มีทุกข์เลย

แพทย์แผนไทยขาดแคลนนักปฏิบัติ
แพทย์แผนไทยต้องการนักปฏิบัติ (จริง)

ยส พฤกษเวช


“ ความอยาก ”

“ ความอยาก ” มีอยู่ ๓ อย่าง
“ กามตัณหา ” คือความอยากในสิ่ง น่ารักน่าใคร่
เป็น รูป สี กลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ได้
“ ภวตัณหา ” คือความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ตามที่ตนอยากจะเป็น
“ วิภวตัณหา ” คือความอยากไม่ให้มีอย่างนั้น
ไม่ให้มีอย่างนี้
“ เมื่อมีความอยากที่ไหนก็มีความร้อนใจที่นั่น ”......คู่มือมนุษย์ พุทธทาส

ยส พฤกษเวช


“ อะไร เป็น อะไร ”

“ อะไร เป็น อะไร ” เป็นหัวใจของแพทย์แผนไทย
คนไข้เจ็บป่วยด้วยโรค “ อะไร ”
“ อะไร ” เป็นเหตุให้เจ็บป่วย
“ อะไร ” ที่เป็นมูลแห่งเหตุ
“ อะไร ” ที่จะทำให้หายป่วย

วิธีการ “ อะไร ” ที่จะรักษาให้หายป่วย
ตั้งยา หรือใช้ตำรับยา “ อะไร ”
“ อะไร ” ที่ควรกระทำ และ หรือ ไม่ควรกระทำ
“ อะไร ” ที่เสริมการรักษา

การปฏิรูปแพทย์แผนไทย ต้องรู้ว่า “ อะไร เป็น อะไร ”
บุคลากรที่จะมาปฏิรูป ต้องรู้ว่า “ อะไร เป็น อะไร ”
มิใช่รู้เพียงว่า “ คัมภีร์กล่าวไว้ ครูสอนไว้ ”
หากยังไม่รู้ว่า “ อะไร เป็น อะไร ”
จะเป็นการเสียเวลา และสูญเปล่า ที่จะ “ ปฏิรูป ”

ยส พฤกษเวช


“ สุญญตา ”

“ สุญญตา ” แปลว่า “ ความเป็นของว่าง ”
ว่าง จากความหมายแห่งความเป็นตัวตน
ว่าง จากสาระที่เราควรจะเข้าไปยึดถือด้วยกำลังใจ
ทั้งหมดทั้งสิ้นว่า ตัวเรา ของเรา
ว่างจากสาระที่ควรเข้าไปยึดถือ
นั้นเป็นตัวศาสนาโดยแท้.........คู่มือมนุษย์ ( พุทธทาส )

ยส พฤกษเวช


“ การลิ้มชิมรส ”

“ เถาบอระเพ็ด ขมเย็น สรรพคุณ แก้ไข้ บำรุงน้ำดี
บำรุงไฟธาตุ ฯ ล ฯ ”
หากเราต้องการปรุงยา แก้ไข บำรุงน้ำดี และต้องใช้เถาบอระเพ็ด
เป็นส่วนประกอบในการปรุงยา
เราต้องใช้เถาบอระเพ็ด ที่มีรส ขม และมีฤทธิ์ เย็น เท่านั้น
เถาบอระเพ็ด ใช่ว่าจะมี รส ขม ฤทธิ์ เย็น ทุกต้นเสมอไป
หมอไทยรู้ได้โดย “ การลิ้มชิมรส ”

“ การลิ้มชิมรส ” จึงเป็นองค์ความรู้ เป็นทั้งศาสตร์ และ ศิลป์
เพื่อการประกอบหรือปรุงยา ของหมอไทย
ปัจจุบันผู้ผลิตยาไทย ไม่ได้พิจารณาถึง รส และ ฤทธิ์ ของตัวยา
ดังนั้นการผลิตยา แต่ขาดองค์ความรู้ จึงส่งผลต่อคุณภาพ
ของตำรับยา และ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย

ดังนั้น เพื่อการพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอน “ เภสัชกรรมไทย ”
จึงควรบรรจุวิชาที่ว่าด้วย “ การลิ้มชิมรส ”
เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน
ก่อนที่องค์ความรู้นี้จะหายไปเพราะความมักง่ายของผู้ผลิตยา

ยส พฤกษเวช


“ อุตุสมุฎฐาน ”

คำถาม
ข้อความข้อใดกล่าวถูกต้อง
ข้อ ๑. ฤดู ทำให้เกิดโรค
ข้อ ๒. สมุฏฐาน ของฤดู ทำให้เกิดโรค
ลองตอบดูนะครับ

ยส พฤษเวช


“ ธรรมชาติ ยาไทย ”

ยาไทย ไม่ใช่ยารักษาโรค
ยาไทย คือ ยาที่เข้าไปปรับ เข้าไปแก้อาการ
สภาวะสมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ
ที่กระทำโทษ ในกองธาตุทั้ง ๔

หากใช้ยาไทย ต้องวินิจฉัยแบบหมอไทย
หากวินิจฉัยแบบแผนปัจจุบัน ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน
อาการโรค ยาแก้อาการโรค ในคัมภีร์แผนไทย
บอกถึงภาวะผิดปกติของสมุฏฐาน ในกองธาตุ ทั้ง ๔
ไม่ใช่บอกภาวะผิดปกติของการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ไม่ใช่บอกถึงภาวะผิดปกติของชีวเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย

เรียนแพทย์แผนไทย ต้องฝึกคิดแบบหมอไทย
ไม่ใช่เรียนแผนไทย แต่ไปฝึกคิดแบบแผนปัจจุบัน
ยาไทยสนองต่อหลักคิดแบบไทย ไม่ใช่แผนปัจจุบัน

ยส พฤกษเวช


“ ไตรลักษณ์ แพทย์แผนไทย ”

ไตรลักษณ์ เป็นกฎของธรรมชาติ
ที่หมอไทยต้องรู้
“ อนิจจัง ” สภาวะความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
ไม่คงที่ ไม่ถาวร เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
“ ทุกขัง ” สภาวะที่ทรงอยู่ ในสภาพเดิมไม่ได้
บีบคั้น ขัดแย้ง
“ อนัตตา ” สภาวะไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

อนิจจัง ทำให้เกิด กลางวัน กลางคืน ฤดูกาล
ห่วงโซ่อาหาร สมุฏฐาน ๓ ธาตุทั้ง ๔ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ทุกขัง ทำให้เกิด ภาวะ เร่าร้อน เผาลน กระวนกระวาย
ทรมาน ต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อให้พ้นทุกข์ พ้นจากการ เจ็บป่วย
อนัตตา ทำให้รู้ว่า การเจ็บป่วย เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ

ต้องพิจารณา หาเหตุ แล้วจัดการกับเหตุนั้น
เมื่อขจัดเหตุแล้ว การเจ็บป่วยก็คลายไป

ยส พฤกษเวช


“ การพิจารณาธาตุ ในแพทย์แผนไทย ”

การตรวจร่างกาย ตรวจอาการ ในแพทย์แผนไทย
ใช้การพิจารณา ธาตุ ๔๒ ประการ
พิจารณาเพื่อให้รู้สภาวะของสมุฏฐาน ในธาตุ ๔๒ ประการ
เพราะสมุฏฐาน ( ปิตตะ วาตะ เสมหะ ) เป็นเหตุให้เกิดโรค

กองโรคเกิดในกองธาตุ
ธาตุไม่ใช่เหตุให้เกิดโรค
“ ธาตุเป็นที่ตั้งแห่งกองโรค ”

ยส พฤกษเวช


“ จิต สมุฏฐาน ”

ทางพุทธศาสนา “ จิต เป็นที่อาศัยให้เกิดรูป ”
ทางแพทย์แผนไทย “ สมุฏฐาน เป็นที่ตั้งแห่งกองธาตุ ”

ยส พฤกษเวช


“ ธาตุสมุฏฐาน ”

คำถาม
ข้อใดกล่าวถูกต้อง
ก. ธาตุเป็นเหตุให้เกิดโรค
ข. สมุฏฐานของธาตุ เป็นเหตุให้เกิดโรค
ลองตอบดูครับ

ยส พฤกษเวช


“ อากาศธาตุ หรือ อากาสธาตุ ”

อากาศธาตุ หมายถึง สภาวะสภาพที่เป็นช่องว่าง
ที่ไม่มีธาตุทั้ง ๔ เป็นสิ่งที่กระทบไม่ได้
ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก
ช่องสำหรับกลืน ช่องที่พัก
ช่องทางเดินของระบบทางเดินอาหาร
ช่องในหลอดเลือด ในเส้น
ช่องทางเดินของระบบประสาท เป็นต้น

อากาศธาตุ เป็นสภาวะสภาพที่เป็นช่องว่าง
เพื่อให้สมุฏฐานทั้ง ๓ ธาตุ ทั้ง ๔ ได้ใช้เป็นทางผ่าน
หากสภาวะดังกล่าวไหลลื่น
ก็จะไม่พบภาวการณ์เจ็บป่วย
แต่หากเกิดภาวการณ์ติดขัด
ในช่องทางเดิน หรือ อากาศธาตุ
การเจ็บป่วยก็จะเกิดขึ้นมา

การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้น
มักจะเกิดมาจากการมีภาวะติดขัด ของอากาศธาตุ
โดยเฉพาะโรคที่ต้องรักษาด้วยการนวด
ประคบ อบ หรือ หัตถเวช เป็นต้น

ยส พฤกษเวช


“ ธาตุ ”

ธาตุ (ในความหมายของแพทย์แผนไทย) (รูป)
เมื่อเราสงบจิตนั่งพิจารณาสรรพสิ่ง
ที่อยู่รอบตัวของเรา เราจะพบว่า

๑. สรรพสิ่งที่มีสภาวะสภาพทางธรรมชาติ คงรูป
มีความแข็ง ความอ่อน ความกระด้าง
สภาวะสภาพแบบนี้มีลักษณะคล้ายสิ่งสมมุติที่เรียกว่า ดิน
ซึ่งมีลักษณะ คงรูป มีความแข็ง ความอ่อน ความกระด้าง
จะขอเรียกสภาวะสภาพทางธรรมชาติคล้ายดินอย่างสั้น ๆ นี้ว่า “ ธาตุดิน ”

๒. สรรพสิ่งที่มีสภาวะสภาพทางธรรมชาติ ไหล เกาะกุม
สภาวะสภาพแบบนี้มีลักษณะคล้ายสิ่งสมมุติที่เรียกว่า น้ำ
ซึ่งมีลักษณะลื่นไหล เกาะกุม จึงขอเรียกสภาวะสภาพ
ทางธรรมชาติคล้ายน้ำอย่างสั้น ๆ นี้ว่า “ ธาตุน้ำ ”

๓. สรรพสิ่งที่มีสภาวะสภาพทางธรรมชาติ ร้อน เย็น อบอุ่น สุกงอม
สภาวะสภาพแบบนี้มีลักษณะคล้ายสิ่งสมมุติที่เรียกว่า ไฟ
ซึ่งมีลักษณะ ร้อน เย็น อบอุ่น สุกงอม จึงขอเรียกสภาวะ
สภาพทางธรรมชาติคล้ายไฟอย่างสั้น ๆ นี้ว่า “ ธาตุไฟ ”

๔. สรรพสิ่งที่มีสภาวะสภาพทางธรรมชาติ ไหว เคร่งตึง
สภาวะสภาพแบบนี้มีลักษณะคล้ายสิ่งสมมุติที่เรียกว่า ลม
ซึ่งมีลักษณะ เคลื่อนไหว เคร่งตึง จึงขอเรียกสภาวะ
สภาพทางธรรมชาติคล้ายลมอย่างสั้น ๆ นี้ว่า “ ธาตุลม ”

จากข้อความดังกล่าวข้างต้นจึงขอให้คำนิยามคำว่า ธาตุ ไว้ดังนี้
ธาตุ หมายถึง “สภาวะสภาพทางธรรมชาติ (คล้าย) ”

ยส พฤกษเวช


“ ธรรมชาติ คัมภีร์ฉบับใหญ่ ”

“ หากต้องการเป็นหมอไทย
สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้คือ ธรรมชาติ
ธรรมชาติในภาวะปกติ
และธรรมชาติในภาวะไม่ปกติ
ธรรมชาติรอบตัวเรา ธรรมชาติในตัวเรา ”

ศึกษาแต่คัมภีร์แพทย์ แต่ไม่รู้แจ้งในธรรมชาติ
ไม่อาจเป็นหมอได้
คัมภีร์ทุกฉบับ ตำราทุกเล่ม ล้วนก่อเกิดจากธรรมชาติ
ความรู้อยู่ในธรรมชาติ รอบตัว และในตัวของเรา
ธรรมชาติ จึงเป็น บรมครูที่ยิ่งใหญ่ของหมอไทย

คัมภีร์ธรรมชาติ ต้องอ่านทุกวัน
ตั้งแต่ตื่นขึ้นลืมตา จนกระทั่งหลับตาเข้านอน
ต้องอ่านทุกวัน จนวาระสุดท้ายของชีวิต
“ คัมภีร์ธรรมชาติ เป็นคัมภีร์ที่หมอไทยอ่านทุกวัน ”

ยส พฤกษเวช


“ สภาวะ ”

“ สภาวะ ” หมายถึง สภาพตามความเป็นจริงของธรรมชาติ
ความเป็นจริงที่สัมผัสได้ด้วยกายสัมผัส และสัมผัสได้ด้วย ใจ
สิ่งที่มองไม่เห็น ไม่สามารถสัมผัสได้ทางกาย
ใช่ว่าสิ่งนั้นไม่มี แท้จริงแล้วมี

สิ่งที่รับรู้ทางกายสัมผัส มีสภาวะเรียกว่า “ รูป ”
สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ มีสภาวะเรียกว่า “ นาม ”
“ สภาวะ ” ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับพิจารณาสรรพสิ่งในธรรมชาติ
เช่น พิจารณา สภาวะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง เป็นต้น
ไม่ใช่พิจารณา ชื่อศัพท์ภาษา

ศัพท์ภาษา เป็นของสมมุติตั้งขึ้น
แตกต่างกันไปตามภาษา ชาติพันธ์ ยุคสมัย
ดังนั้น การพิจารณาธรรมชาติ
ต้องพิจารณาไปที่สภาวะธรรมชาติ
ไม่ใช่ ชื่อ ของสิ่งที่พิจารณา

“ สภาวะ ” เป็นเครื่องมือของหมอไทย
ใช้พิจารณาสรรพสิ่ง พิจารณา ไข้ พิจารณาโรค
ไม่ใช่พิจารณาชื่อของสรรพสิ่ง ชื่อไข้ ชื่อโรค

ยส พฤกษเวช


“ อยากรู้ จะไม่รู้
ละอยากรู้ จึงรู้ ”

การศึกษาธรรมะ ผ่านการอ่าน ฟัง
ต้องอ่าน ฟัง ให้เข้าใจ
เมื่อเข้าใจจึงหมั่นพิจารณา หมั่นปฏิบัติ
ไม่ใช่อ่าน ฟัง แล้วเกิดอยากรู้ อยากเห็น
อยากพิสูจน์ ความจริงตามคำสอน
ความอยาก นั้นเองจะปิดกั้น ความรู้แจ้ง

การศึกษาแพทย์แผนไทยก็เช่นกัน
ต้องอ่าน ฟัง ให้เกิดความเข้าใจ
แล้วหมั่นพิจารณา หมั่นปฏิบัติ
ไม่ใช่อยากรู้ อยากพิสูจน์ อยากทำวิจัย
อยากนำไปเทียบเคียงกับแผนปัจจุบัน
“ ละอยากรู้ จึงรู้แจ้ง ”

ยส พฤกษเวช


“ ธาตุต้องสำแดง ”

หมายถึง การกินอาหารหรือยา ที่แสลงกับธาตุ
โบราณเรียกว่า “ ผิดสำแดง หรือ แสลง ”
กล่าวคือ อาหารหรือยา นั้น เป็นพิษต่อร่างกาย
อาการที่แสดงออก คือ ถ่ายอย่างรุนแรง ร่วมกับ อาเจียน
หรือทั้งลงทั้งราก หากมีอาการหนักเรียก สันนิบาตสองคลอง
เช่น อาการของป่วง ต่าง ๆ
ในสมัยโบราณกล่าวว่า เหตุเพราะ ปีศาจกระทำโทษ

ยส พฤกษเวช


“ นิ่ง เคลื่อนไหว ”

ภาวะทั้ง ๒ นี้ เป็นสิ่งจำเป็น
หากให้กายแข็งแรง กายต้องเคลื่อนไหว
หากให้จิตเข็มแข็ง จิตต้องนิ่ง
แต่ทำไมคนทั้งหลาย จึงทำสลับกัน

ยส พฤกษเวช


“ ความว่าง ”

“ ปั้นดินเหนียวขึ้นเป็นภาชนะ
จากความว่างเปล่าของภาชนะนี้เอง
คุณประโยชน์ของภาชนะก็เกิดขึ้น ”
เราได้ใช้ประโยชน์จากความมี
และได้รับคุณประโยชน์จากความว่าง…………วิถีแห่งเต๋า

ยส พฤกษเวช


“ จักร วงล้อแห่งพลัง ”

“ จักร ” ใช้เรียกสิ่งที่มีภาวะวงกลม
หมุนเวียนเป็นวงกลม
การหมุนเวียนเป็นวงกลมนี้เองที่ทำให้เกิด “ พลัง ”
พลังงานต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ด้วยพลัง
หรือภาวะที่หมุนเป็นวงกลม
ดังนั้นขอเรียก จักร ว่าเป็น “ วงล้อแห่งพลัง ”
ในธรรมชาติ มี จักร หรือวงล้อแห่งพลังมากมาย
ในจักรวาล ในจักรราศี ในฤดู ในกาล
ในธรรมชาติ และในร่างกายของมนุษย์

พลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ
ทำให้เกิด จักร หรือวงล้อแห่งพลัง
จักร หรือวงล้อแห่งพลัง
ทำให้พลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ ไหลเวียน
พลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ
ไหลเวียน อยู่ในกองธาตุ ในธรรมชาติ
ธาตุต่าง ๆ จะจำเริญ หรือวิบัติ
ก็ด้วยอำนาจของ พลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ
จักร ในกาย ต้องสอดคล้องกับจักร ในธรรมชาติ
จักร ในกาย ขัดแย้งกับจักร ในธรรมชาติ
ความเจ็บป่วยจะตามมา

ยส พฤกษเวช


“ ติดขัด เกิดลม เกิดโรค ”

“เกิดลม” หมายถึง การเกิดโรค
อาการที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียน “ติดขัด”
อาการเกิดขึ้น รวดเร็ว เหมือนลมพัด
หรือสะสมค่อยเป็นค่อยไปก็ได้
เช่น เกิดลมอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดลมหทัยวาตะ
ลมปลายปัตคาต เป็นต้น

ดังนั้น การเกิดลม จึงน่าจะหมายถึง “ภาวะติดขัด”
ของการไหลเวียน
พลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ ติดขัด
เกิดสภาวะไม่ไหลเวียน เรียกว่า “เกิดลม”
เมื่อ “เกิดลม” ทำให้ธาตุทั้ง ๔ แปรปรวน เสียสมดุล
“การเกิดโรค” ก็ตามมา

ยส พฤกษเวช


“ ยาเบ็ญจะอำมฤตย์ ”

เอามหาหิงคุ์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง
รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล
(เอามหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล
แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก)
ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง
รากทนดี ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท

ยา ๕ สิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้
ทำเป็นจุณ ละลายน้ำส้มมะขามเปียก
ให้รับประทานหนัก ๑ สลึง
ฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ
ชำระลำไส้ซึ่งเปนเมือกมันและปะระเมหะทั้งปวง

ยาเบ็ญจะอำมฤตย์ เป็นยาถ่าย ขับล้างพิษ
หรือของเสียที่หมักหมมเน่าเสียอยู่ภายใน
ไม่ใช่ยารักษาตับโดยตรง
ยาถ่ายทุกชนิด มีพิษในตัวของมันเอง
ยาถ่าย เมื่อกินแล้ว ต้องถ่าย
หากไม่ถ่าย จะต้องทำให้ถ่าย
เพราะจะไปเพิ่มพิษให้แก่ร่างกาย
เพราะตัวยาบางตัวมันมีพิษ
และกินชั่วครั้งชั่วคราว ไม่กินต่อเนื่อง

ยาเบ็ญจะอำมฤตย์ เป็นยาขับล้าง
ของเสีย หรือพิษ ใช้ตอนเริ่มต้น
การรักษา โรคร้ายภายใน เท่านั้น
จึงไม่สมควรที่จะกินอย่างต่อเนื่อง
เพราะจะเป็นพิษได้

ดังนั้น หากนำยาเบ็ญจะอำมฤตย์ มากินเพื่อรักษาตับ
และกินอย่างต่อเนื่อง แบบนี้อันตรายมาก
เพราะจะเป็นการเพิ่มพิษให้กับผู้ป่วย
การกินควรกินเว้นระยะ ประมาณ ๗ วันครั้ง
หรือ ๑๔ วันครั้งก็ได้ สลับกับยารักษาและฟื้นฟูตับ
แบบนี้น่าจะเป็นการกินยาที่ถูกวิธี ปลอดภัยกว่า

ยส พฤกษเวช


“ ถ้อยคำ ”

ถ้อยคำจริง มักไม่ไพเราะ
ถ้อยคำที่ไพเราะ มักไม่จริง
คนดี ไม่ได้พิสูจน์ด้วยการถกเถียง
คนที่ถกเถียงเก่งมักไม่ใช่คนดี
คนฉลาดไม่รู้มาก
คนรู้มากมักไม่ฉลาด

หมอไทย ต้องสำรวมวาจา
คำจริง อย่างไพเราะ ไม่โอ้อวด
ฉลาดรอบรู้ ในวิชาชีพ
หมอไทย ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ
ไม่ใช่กล่าวอ้างเพียง “ถ้อยคำ ”

ยส พฤกษเวช


“ ความชื้น การเกิดโรค ”

ความชื้น เกิดจากการกระทบกัน
ระหว่างภาวะร้อนกับภาวะเย็น
มี ๒ สถานะ คือ ร้อนชื้น กับ เย็นชื้น
เกิดขึ้นภายนอกทั่วไปและภายในร่างกาย

ความชื้น ภายในร่างกาย
อยู่ในรูปเสมหะหรือเสลด
แรกเริ่มจะเหลวใส นานเข้าจะข้น
เหนียวหนืด จับตัวเป็นก้อน

ความชื้นเกิดขึ้นที่อวัยวะใด
ทำให้การขับเคลื่อนของวาตะ
ของอวัยวะนั้นติดขัด
หากไม่แก้ไข ปล่อยเรื้อรัง ทำให้เกิดโรคร้ายได้

ยส พฤกษเวช


“ ใบไม้ในกำมือ ”

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า
“ ความจริงของโลกนี้ ไม่ต่างจากใบไม้ในป่า
แต่ความจริงที่นำมาสอนนั้น เปรียบได้กับใบไม้ในกำมือ ”
ใบไม้ในกำมือ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น
เพียงพอที่จะทำให้คนห่างไกลจากความทุกข์
ไม่จำเป็นต้องรู้ใบไม้ทั้งหมดในป่า หรือต้องมีความรู้
มากมายในเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่บนโลกใบนี้
ไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด แต่รู้ในสิ่งสำคัญก็พอ

ในทางการแพทย์แผนไทย
ขอเปรียบคัมภีร์ที่ใช้เรียน เสมือน “ ใบไม้ในกำมือ ”
ความรู้ในคัมภีร์ ยังน้อยนิด และ ยังมีความคลุมเครือ
ยังต้องศึกษาในเชิงลึก กว้าง ให้มากกว่านี้
ที่สำคัญ ต้องมีความรู้เทียบเคียงกับแพทย์ทางเลือกอื่น
มีประสบการณ์ มีทักษะพอสมควร จึงนำความรู้ไปปรับใช้ได้
และต้องเรียนรู้ไม่จบสิ้น
ความรู้ทางศาสนา เป็นความรู้ที่นำมาพัฒนาจิตของตนเอง
ความรู้ทางการแพทย์ เป็นความรู้ที่นำมาดูแลสุขภาพผู้อื่น และตนเอง

ยส พฤกษเวช


“ ไข้ ”

ไข้ - เป็นภาวะที่แสดงออกหรือสื่อให้รู้ว่า
ร่างกายมีภาวะผิดปกติ หรือสื่อให้รู้ว่า
โรคร้ายกำลังเข้าจู่โจม

ไข้ - เป็นภาวะของการขาดความสมดุลของ
สมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุทั้ง ๔
อาการที่แสดงออกคือ ความผิดปกติของสภาวะร้อน – เย็น
ความผิดปกติของชีพจร ความผิดปกติของกองธาตุทั้ง ๔

ยส พฤกษเวช


“ คนทั่วไปหาความรู้ในตำรา
ปราชญ์ หาความรู้ในธรรมชาติ ”

ความรู้มีอยู่ทุกที่ ผู้คนหาอยู่ไม่รู้สิ้น
บางคนพบเห็นอย่างง่ายดาย
บางคนอยู่ตรงหน้ากลับไม่พบเห็น

ยส พฤกษเวช


“ อายุคัมภีร์หมอไทย อายุวิชาของหมอไทย ”

อายุวิชาหมอไทยของบรรพบุรุษไม่ทราบแน่นอน
แต่มั่นใจว่ามีมานับเป็นพันปีแล้ว
อายุคัมภีร์หมอไทย ที่ใช้เป็นคู่มือการเรียนการสอน
ไม่ทราบแน่นอน แต่ไม่น่าจะเกิน ๕๐๐ ปี

คัมภีร์มีการปรับปรุงแก้ไข ผ่านมาแล้วหลายครั้ง
คัมภีร์ที่ใช้ประกอบการเรียน ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ หรือไม่ ?
คัมภีร์ มีหลักคิดที่เป็นแก่นแท้องค์ความรู้อย่างไร ?
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาร่วมกันสืบค้น
หลักคิดของบรรพบุรุษหมอไทย
เมื่อหลายพันปีแต่ก่อนมา
ก่อนมีคัมภีร์ บรรพบุรุษหมอไทย
คิดอะไร ? คิดอย่างไร ? ใช้อะไรเป็นหลักคิด ?

ยส พฤกษเวช


ขอแนะนำการฝึกเพื่อเตรียมตัวสอบนวดปฏิบัติ

๑. ฝึกนวดพื้นฐานให้คล่อง สำนักไหนก็ได้ พื้นฐานศีรษะ บ่า คอ ไหล่ แขน ขา หลัง ท้อง
๒. เลือกฝึกนวดแก้อาการไว้ ๑๐ อาการโรค
๓. ฝึกการตรวจร่างกายก่อนนวด ซักประวัติ ฝึกจับชีพจร ข้อมือ และที่เท้า ดูลม บน ล่าง เสมอไหม
๔. ฝึกทำลูกประคบ มีสมุนไพรอะไรบ้าง
๕. การอบตัว มีขั้นตอน ข้อห้ามอะไรบ้าง มีสมุนไพรอะไรบ้าง
๖. ฝึกการเขียน ใบ OPD
๗. การวางแผนการนวด การให้คำแนะนำ
๘. การนวดต้องมีขั้นตอน การจัดท่าผู้ป่วย ท่าผู้นวด การลงน้ำหนัก การปล่อยน้ำหนัก
๙. การนวดต้องมีท่ามีทาง มีจังหวะ อย่ารีบ อย่าเสียสมาธิ
๑๐. ควรมีการสอบถามอาการ ความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย ระหว่างการนวด
๑๑. ทบทวนกรณีห้ามนวดไว้ด้วย ถ้าห้ามนวดแล้ว เราจะส่งต่อผู้ป่วยอย่างไร อย่าเผลอไปนวด
๑๒ . ทบทวนเส้นสิบไว้ด้วย วาดแผนภาพได้ อธิบายทางเดินเส้นได้ และดูลมประจำเส้นด้วย พร้อมอาหารแสลง
๑๓. สุดท้ายต้องทำให้เขาเชื่อได้ว่าเราเป็นหมอนวดแก้อาการได้

ขอให้โชคดีในการสอบนะครับ

ยส พฤกษเวช


“ ครูแพทย์แผนไทย ”

หลักสูตรแพทย์แผนไทย เดิมเป็นเชิงอนุรักษ์
ไม่ใช่เชิงสัมฤทธิผล
การเรียน การสอน การสอบประเมิน
จึงเน้นไปที่การท่องจำ ไม่ใช่วิเคราะห์

ปัจจุบันสังคมไทยหวังผลจากแพทย์แผนไทย
จึงควรปรับปรุงการเรียน การสอน การสอบประเมินใหม่
เพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลที่ต้องการ เริ่มจากหลักสูตร
สื่อการเรียน การสอน ครูผู้สอน สถานที่ฝึกปฏิบัติ
โดยเฉพาะครูผู้สอน ต้องเป็น “ แพทย์แผนไทยที่แท้จริง ”
มีประสบการณ์การรักษา มาพอสมควร
ไม่ใช่เอาพวก ท่องจำเก่ง ติวเตอร์ มาสอน แม้จะมีใบประกอบฯ

บางคนมีพื้นฐานการศึกษา ระดับปริญญาตรี โท เอก
บางคนเป็นหมอแผนปัจจุบัน สอบได้ใบประกอบแบบท่องจำ
แต่ไม่มีประสบการณ์ การรักษาแบบแผนไทย ใช้ยาไทย
บางคนยังไม่กล้ากินยาไทย เจ็บป่วย เข้า รพ. แผนปัจจุบัน
แล้วจะเรียกว่าเป็นแพทย์แผนไทยได้อย่างไร

ตนเองเรียนมา สอบมา ด้วยวิธีการท่องจำ วิเคราะห์ไม่เป็น
เมื่อมาสอน ก็ต้องสอนแบบท่องจำ (จำอวด) ไม่ใช่วิเคราะห์
หากยังเป็นแบบนี้อยู่ จะเป็นการทำลายแพทย์แผนไทย
การพัฒนาแพทย์แผนไทยก็จะไม่สัมฤทธิผล

ยส พฤกษเวช


“ บัณฑิต กับ คนพาล ”

คบคนพาล พาลพาไปหาผิด
คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล
บัณฑิตด่า ดีกว่าคนพาลชม
ทุกข์ระทม หากคบแต่คนพาล

ยส พฤกษเวช


“ คุลุมโรค ”

“ คุลุมโรค ” คือ โรคลมต่าง ๆ ที่ลมจับตัวเป็นก้อน
เป็นเถาดาน อยู่ในอกและช่องท้อง
เกิดจากภาวะ “ ติดขัด ” ของพลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ
พลังไม่ไหลเวียน ทำให้เกิด “ ลมคุลม ”
คือ มีภาวะ ติดขัด คุกรุ่น เกิดความร้อน หรือ ภาวะ อักเสบ

ภาวะติดขัด เกิดจาก ลิ่มเลือด ก้อนไขมัน พังผืด เนื้องอก เป็นต้น
การรักษา ยากยิ่งนัก
การรักษาในเบื้องต้น ไม่เหมาะที่จะใช้การกินยา
ควรใช้ยาจากภายนอก เช่น ยานาบ ยาประคบ เป็นต้น
คุลุมโรค มีกล่าวไว้ใน คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร

ยส พฤกษเวช


“ ความว่าง ”

“ ปั้นดินเหนียวขึ้นเป็นภาชนะ
จากความว่างเปล่าของภาชนะนี้เอง
คุณประโยชน์ของภาชนะก็เกิดขึ้น ”
เราได้ใช้ประโยชน์จากความมี
และได้รับคุณประโยชน์จากความว่าง…………วิถีแห่งเต๋า

ยส พฤกษเวช


“ เชื่อถือ ”

“ เชื่อถือ ” หมายถึง ไว้วางใจ นับถือ
มีศรัทธา ถือปฏิบัติ
แพทย์แผนไทย ดำรงอยู่ได้ด้วย “ ความเชื่อถือ ”
ดังนั้น จะปฏิรูปแพทย์แผนไทย
สิ่งแรกที่ควรทำคือ “ สร้างความเชื่อถือ ”
เพราะความเชื่อถือ เป็นกุญแจสำคัญไปสู่ “ การปฏิรูป ”

ยส พฤกษเวช


“ นิ้วมือที่ไม่เท่ากัน ”

ด้วยนิ้วมือที่ไม่เท่ากัน
สร้างสรรค์งานมากมาย
ด้วยนิ้วมือที่ไม่เท่ากัน
สร้างความหายนะมากมาย
นิ้วมือไม่มีวันที่จะเท่ากัน
ด้วยความคิดที่ต่างกัน
สร้างสรรค์งานมากมาย
ด้วยความคิดที่ต่างกัน
สร้างความหายนะมากมาย
มนุษย์ย่อมมี ความคิด ที่ต่างกันเสมอ

ยส พฤกษเวช


“ หมอนวด หมอขยำ ”

หมอนวด คือ บุคคลที่มีความรู้ ความชำนาญ
วิธีการนวด เพื่อบำบัด รักษาผู้ป่วย
หมอขยำ คือ บุคคลที่ไม่มีความรู้ในการนวด
บีบ ขยำ ไปเรื่อย ๆ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

การนวดมีประโยชน์มากมาย
บางกรณีได้ผลดีกว่า การใช้ยา
แต่การนวด และการใช้ยา ย่อมมีคุณและโทษเสมอ

ยส พฤกษเวช


“ วิธีเดียวสำหรับทุกคน ”

คนแต่ละคนมีสภาวะสภาพ (ธาตุ) ไม่เหมือนกัน
ดังนั้นวิธีดูแลสุขภาพจึงไม่เหมือนกัน
ให้เข้าใจอยู่เสมอว่า วิธีการหนึ่ง
เหมาะสำหรับคน ๆ หนึ่ง เท่านั้น
ไม่ใช่ใช้ได้สำหรับทุก ๆ คน
เพราะในโลกนี้ไม่มี “ วิธีเดียวสำหรับทุกคน ”

ดังนั้นตำรับยาไทย แต่ละตำรับ (แต่ละคัมภีร์)
ใช่ว่าจะเหมาะสมกับคนทุกคน
การนำไปใช้จึงต้องปรับให้เหมาะสม
กับสภาวะสภาพ (ธาตุ) คนไข้แต่ละคน
“ ยาไทยตำรับเดียวใช่ว่าใช้ได้กับทุกคน ”

ยส พฤกษเวช


“ ฤดูกาล อาหาร ”

ในฤดูร้อน อากาศร้อน ปิตตะกำเริบ
ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น หอมเย็น
เช่น มะระ ขี้เหล็ก ตำลึง ผักกาด
ข้าวแช่ น้ำใบเตย น้ำอัญชัน แตงโม
รากบัว มะอึก สับปะรด
ควรหลีกเลี่ยง กะทิ ของหมักดอง
อาหารรสเผ็ดร้อน พวกน้ำพริก เป็นต้น

ในฤดูฝน อากาศเย็นเข้าแทรก วาตะกำเริบ
ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน หอมร้อน
เช่น กะเพรา ยี่หร่า ข่า กระชาย ผักชีล้อม
ผักชีลาว แกงส้มดอกแค แกงส้มผักกะเฉด
มะระขี้นก ขิงสด น้ำผึ้งเก่า เป็นต้น

ในฤดูหนาว อากาศเย็นชื้นเข้าแทรก เสมหะกำเริบ
ควรกินอาหารฤทธิ์ออกสุขุม หรือกลุ่มสมุนไพรขับเสมหะ
เช่น ขิง มันต้มใส่ขิง ถั่วเขียวใส่ขิง
กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ ร้อน ๆ กระเทียม
สะเดา ขมิ้น อบเชย ลูกมะยม ฝักส้มป่อย
ใบมะขามแขก เม็ดบัว เป็นต้น

อาหารสำคัญมาก และมักเป็นสาเหตุ
ของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นโรคภูมิแพ้
เบาหวาน ความดันสูง สมองเสื่อม ฯลฯ

ดังนั้นมนุษย์หากต้องการมีสุขภาพที่ดี
จะต้องเข้าใจ กฎเกณฑ์พลังของธรรมชาติ
เข้าใจสภาวะสภาพร่างกายของตนเอง
เข้าใจพลังธรรมชาติของอาหาร
แล้วจึงนำมาปรับใช้ในเรื่องของการกินการอยู่

ยส พฤกษเวช


“ ฤดูกาล ปรับธาตุ ”

การโคจรของโลกเปลี่ยนแปลง
จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพลังของธรรมชาติ (ปิตตะ วาตะ เสมหะ)
พลังธรรมชาติเปลี่ยนแปลงก็จะมีผล
ต่อการเปลี่ยนแปลงพลังธรรมชาติของร่างกายเราเหมือนกัน
พลังธรรมชาติ (ปิตตะ วาตะ เสมหะ) แปรเปลี่ยน ธาตุ ทั้ง ๔ ก็แปรตาม

มนุษย์จึงต้องมีการปรับสภาวะสภาพหรือที่เรียกว่า ปรับธาตุ
การปรับธาตุที่สำคัญและง่ายที่สุดก็คือการปรับเรื่อง อาหาร
หรือที่เรียกว่า การกินอาหารปรับธาตุนั้นเอง

ดังนั้นการกินอาหารควรมีความเข้าใจพื้นฐาน
ในเรื่อง พลังธรรมชาติในขณะนั้นว่ามีลักษณะอย่างไร
หลักง่าย ๆ ในการพิจารณา คือ ดูว่าพลังธรรมชาตินั้น
กำเริบ หรือลดลงหรือหย่อนลงอย่างไร

เช่น ในฤดูร้อน พลังปิตตะจะมาก มากขึ้น ๆ
จนเมื่อถึงระดับหนึ่ง จะเกิดการปรับตัวลดลง
เพราะมีความเย็นเข้ามาแทรก
ก็คือ การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูฝนนั้นเอง พลังวาตะจะมากขึ้น
เมื่อเข้าฤดูฝน ความร้อนจะค่อย ๆ ลดลง ลดลงเรื่อย ๆ
ความเย็นก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ
จนถึงระดับหนึ่งจะคงที่คือในช่วงในช่วงปลายฤดูฝน
ก็จะมีความชื้นก่อตัวขึ้นคือการเข้าสู่ฤดูหนาวนั้นเอง
พลังเสมหะจะเพิ่มขึ้น ความชื้นหรือความเย็นชื้น
จะก่อตัวเพิ่มขึ้น ๆ เรื่อย ๆ จนถึงระดับหนึ่ง
ก็จะเกิดการปรับตัว โดยจะเริ่มมีความร้อนเข้ามาแทรก
ซึ่งจะเกิดในช่วงปลายฤดูหนาว ก็จะเข้าสู่ฤดูร้อน
ทุกอย่างดำเนินไปเป็นวัฏจักรของฤดูกาล นั้นเอง

ยส พฤกษเวช


“ เครียด ประจำเดือน ”

หญิงบางคน มักมีอารมณ์เครียด
หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ปวดศีรษะ
บางครั้งมีอาการปวดบริเวณท้องน้อย
เจ็บหน้าอก
ลักษณะเด่นคือ ความเครียด หงุดหงิดง่าย
ก่อนมีประจำเดือน หรือช่วงมีประจำเดือน

สาเหตุ เพราะ หญิงเมื่อมีรอบเดือน โลหิต ตับ จะร้อน
เมื่อ ตับ ร้อน จะกระทบจิต ให้ร้อน
ให้เครียด หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย
( โลหิตํ หทยํ ชาตํ )
เมื่อเครียด ก็จะย้อนมากระทบการทำงานของตับ
สมรรถนะการทำงานของตับจะหย่อนลง
จะเกิดภาวะ วาตะคั่งในตับ
วาตะคั่งในตับ จะยิ่งทำให้ ตับ ร้อนยิ่งขึ้น
และจะยิ่งไปกระทบจิตใจ ยิ่งทำให้เครียดมากขึ้น
( เกิดภาวะ ปริทัยหัคคี กระทำโทษ )

แนวทางการรักษา
ทางที่ดีที่สุดคือ การวางอารมณ์ให้เป็นกลาง ๆ
ทำใจเย็น ๆ
ใช้ยาหอมบำรุงหัวใจ
นอนพักผ่อนมาก ๆ
ไม่โหมงานหนัก ครับ
หรือใช้ยาตามคัมภีร์มหาโชตรัต
เมื่อโลหิตระดูหมดไป อาการก็จะ คลายไป

ยส พฤกษเวช


“ ปัญญาญาณ ”

ปัญญาญาณที่แท้นั้นเป็นสมบัติของธรรมชาติ
ความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตที่แท้นั้นอยู่กับธรรมชาติ
สมบัติอันล้ำค่านี้เป็นของธรรมชาติ
ที่มนุษย์มีสิทธิ์จะได้รับ
เพราะหากปราศจากมนุษย์แล้ว
ปัญญาญาณก็ไม่มีอยู่
ความเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก ก็ไม่มีอยู่
การดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่ง
ต้องอาศัยอีกสิ่งหนึ่ง
หากไร้คนก็ไร้โลก
หากไร้คนก็ปราศจากการรู้แจ้งและปัญญาญาณ
สิ่งนั้นจึงเป็นสิ่งล้ำค่าซึ่งมนุษย์พึงได้รับ
หากเราไม่แยกตัวออกจากโลกดังที่เป็นอยู่……..วิถีแห่งเต๋า
หมอไทยต้องเป็นผู้มี ปัญญาญาณ

ยส พฤกษเวช


“ รวดเร็ว ทันใจ ”

พัฒนาการต่าง ๆ ของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน
ถูกกำหนดสร้างขึ้นมาเพื่อ * แก้ปัญหา *
ทุกปัญหาที่แก้ไขต้องมีมิติการตอบสนอง
“ รวดเร็ว ทันใจ ” ร่วมด้วยเสมอ

ทางการแพทย์ ผู้ป่วยย่อมมีความปรารถนา
ให้หายจากโรคภัย อย่าง “ รวดเร็ว ทันใจ ”
การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่มนุษย์ ไม่พึงปรารถนา

*รวดเร็วทันใจ * ในทางการแพทย์บางกรณี
สามารถตอบสนองได้
ไม่บางกรณีก็ตอบสนองไม่ได้
การรักษา บางครั้งใช้เวลาเป็นเดือน
เป็นปี หรือตลอดชีวิต
บางครั้งเสียชีวิตตามอายุขัยขณะมีโรคติดตัวอยู่

ในทางการแพทย์ ไม่ว่าแผนไทย แผนจีน
และแผนปัจจุบัน ย่อมมีรูปแบบ การรักษา
ใช้เวลามากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่กรณี
แต่หมอทุกคนจะพิจารณาถึงความปลอดภัย
ความสัมฤทธิผล ต่อผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
การรักษาของหมอ ในบางครั้ง จึงไม่สามารถ
ตอบสนองความต้องการของคนไข้
ในด้าน “ รวดเร็ว ทันใจ ” ได้

ภารกิจของหมอ เป็นภารกิจที่กระทำ
กับสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง ดังนี้
- จิต อารมณ์ ของผู้ป่วย
- สมุฏฐาน ธาตุทั้ง ๔ ที่ผันแปรตลอดเวลา
- ฤดู ที่เปลี่ยนไป
- อายุ ที่เปลี่ยนไป
- กาลเวลา ที่เปลี่ยนไป
- อาหาร ที่แสลงโรค
- พฤติกรรม ที่ก่อโรค ฯ ล ฯ

การดูแลรักษาผู้ป่วยของหมอ
ต้องนำเหตุต่าง ๆ ที่ไม่หยุดนิ่ง
พิจารณาร่วมด้วยเสมอ
เพื่อประกอบการ วางแผนการรักษา
การใช้ยา การให้คำแนะนำ
การปรับตัวของคนไข้ ตลอดการรักษา

อยากให้ผู้ป่วยทุกท่าน จำไว้ว่า
ยาใด หรือการรักษาด้วยวิธีการใด
ให้ผล “ รวดเร็ว ทันใจ ”
มักก่อผลที่ไม่พึงประสงค์ ในอนาคต ตามมาเสมอ

ยส พฤกษเวช


“ ไข้กำเดา ”

ไข้กำเดา คือ ไข้ที่มีลักษณะอาการ ปวดหัว ตัวร้อนเป็นเปลว
เป็นอาการสำคัญ แล้วมีอาการอื่น ๆ ตามมา
อาการตัวร้อนเป็นเปลว หมายถึง อาการตัวร้อนสูง นั้นเอง
หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้มีอาการ ชัก ( ชัก เท้ากำมือกำ )

“ กำเดา “ หมายถึง เปลวแห่งวาโย โลหิต เสมหะ และสรรพสมุฏฐาน
อาจกล่าวได้ว่า กำเดา คือ เปลวแห่งความร้อน
หมอไทยได้เปรียบไข้กำเดา เป็นไข้สำคัญ เปรียบกับดวงอาทิตย์ คือ
ดวงอาทิตย์ ขึ้น ๑ ดวง โลกเป็นสุข
ดวงอาทิตย์ ขึ้น ๒ ดวง โลกกระวนกระวาย
ดวงอาทิตย์ ขึ้น ๓ ดวง สัตว์ทั้งหลายตายหมด

เปรียบเทียบกับลักษณะอาการไข้ของแผนปัจจุบันดังนี้
อุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ที่ ๓๖.๕ องศา
ถ้าอุณหภูมิมากกว่านี้ถือว่ามีไข้ อธิบายดังนี้
อุณหภูมิ ๓๗.๕ องศา ไม่เกิน ๓๘ องศา ถือว่า ไข้ต่ำ
อุณหภูมิ ๓๘ องศา ถึง ๔๑.๕ องศา ถือว่ามีไข้สูง
ถ้าสูงกว่า ๔๑.๕ องศา ถือว่าไข้สูงเกิน เป็นอันตรายที่สุด

ยส พฤกษเวช


“ พิษนวดกดจุด ”

การนวดกดจุดหนัก ๆ ในระยะแรก
คนไข้จะรู้สึกสบาย แต่ผ่านไป
อาการเจ็บป่วยจะกลับมาอีก
และจะกลับหนักมากยิ่งขึ้น
เกิดการอักเสบเกิดขึ้นที่เส้นเลือด
เส้นน้ำเหลือง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ
เกิดพังผืดตามมา

ในระยะยาวคนไข้อาจมีอาการหนักขึ้น
อาจเกิดโรคขึ้นใหม่โดยที่ไม่รู้ตัว
น้ำหนัก การนวด ควรพอประมาณ
ไม่สร้างความเครียด ให้แก่ร่างกาย

ยส พฤกษเวช


“ แจ้งเรียนรู้ รู้องค์ แล้วรู้วาง ”

เรียนจารึก คัมภีร์ ตามแนวครู
แจ้งเรียนรู้ รู้องค์ แล้วรู้วาง
เอาไว้อ้าง อิงยาม มีปัญหา
มิใช่มา กล่าวอ้าง ทุกคราวไป

ยส พฤกษเวช


“ หนทาง จุดหมาย ”

หนทางของโลกนั้นอาจแลเห็น อาจเดินไปได้
และอาจบรรลุถึงจุดหมาย
แต่หนทางที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่อาจแลเห็น
หนทางอันยิ่งใหญ่นั้นมีอยู่จริง ไปไม่ได้ด้วยการเดิน
และก็ไม่อาจนำไปสู่จุดหมายใด ๆ
เพราะแท้จริงแล้ว ตัวหนทางนั้นเอง คือ จุดหมาย
จุดหมายอันยิ่งใหญ่ แฝงอยู่ในเส้นทางสายนั้นแล้ว
เราไม่อาจบรรลุถึงสิ่งใดได้อีก
แท้ที่จริง ตัวเรานั้นเอง คือ ทางสายนั้น.............วิถีแห่งเต๋า

ยส พฤกษเวช


“ ศรัทธา ยาผีบอก ”

ศรัทธา มีความสำคัญต่อการแพทย์แผนไทย
ในอดีต ศรัทธา ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์
ในอดีต คนไทยนับถือ “ผี” มากกว่าพุทธ
ศรัทธา ได้ถูกนำมาใช้
ในรูปแบบ “ยาผีบอก”
ศาสนาพราหมณ์ นำศรัทธามาใช้
ในรูปแบบ “ พิธีกรรม ”

ต่อมาศาสนาพุทธ มีอิทธิพลเหนือ ผี พราหมณ์
ชาวพุทธนำ ศรัทธา มาใช้ในทางการแพทย์
ในรูป “ เวทมนต์ คาถา พุทธมนต์ ”

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีตะวันตก
มีอิทธิพลต่อการแพทย์แผนไทย (แบบผิด ๆ)
มีการนำ ศรัทธา มาใช้ในทางการแพทย์
ในรูป “ งานวิจัย ”

ยส พฤกษเวช


“ หยดน้ำค้างยามเช้า ”

หยดน้ำค้างยามเช้า เกิดมาจากไหน ?
หยดน้ำค้างยามเช้า สูญหายจากไปไหน ?
หยดน้ำค้างยามเช้า เกิดมาได้อย่างไร ?
หยดน้ำค้างยามเช้า สูญหายไปได้อย่างไร ?
หยดน้ำค้างยามเช้าเกิด แล้วอะไรเกิดตามมา ?
หยดน้ำค้างยามเช้าสูญหาย แล้วอะไรสูญหายตามไป ?

คำถามดังกล่าว ตอบง่ายมาก
หากตอบด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตะวันตก
แต่ยากนักหากตอบด้วยภูมิปัญญาตะวันออก
ภูมิปัญญาตะวันออก ใช้ “ ปัญญาญาณ ”
ในการพิจารณาสรรพสิ่ง อย่างซับซ้อน ลึกซึ้ง
แพทย์แผนไทย เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาตะวันออก

หากใครสามารถตอบคำถามดังกล่าว
ด้วยภูมิปัญญาตะวันออก
พยากรณ์ได้ว่า เขามีพื้นฐานเรียนแพทย์แผนไทย
แพทย์แผนจีน แพทย์แผนตะวันออกอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย
“ ธรรมชาติ คือ ความจริง ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นวัฎจักร
สัมผัสได้ รับรู้ได้ เป็นอยู่ตามธรรมดา ”

ยส พฤกษเวช


“ ความจริงแท้ มีสิ่งเดียว ”

ผู้ศึกษาธรรม ไม่ว่าอยู่ ณ แห่งใด
ส่วนไหนของโลก แม้ภาษาต่างกัน
เมื่อบรรลุธรรม เขาบรรลุในสิ่งเดียวกัน
ผู้ศึกษาวิชาแพทย์ ไม่ว่าอยู่ ณ แห่งใด
ส่วนไหนของโลก แม้ภาษาต่างกัน
เมื่อบรรลุวิชา เขาบรรลุในสิ่งเดียวกัน
“ ความจริงแท้ มีสิ่งเดียว ”

ยส พฤกษเวช


“ การมีบุตรยากของหญิง ”

ความสมบูรณ์ของสมุฏฐาน ทั้ง ๓ ธาตุทั้ง ๔ ของชายและหญิง
เป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐาน ที่ทำให้ มีบุตรได้ง่ายหรือยาก
โดยเฉพาะ หญิง นั้น ต้องอาศัยความสมบูรณ์ เลือดลม อารมณ์
ระบบทางเดินอาหาร ตับ ม้าม ไต มดลูก

สาเหตุที่หญิงมีบุตรยาก
๑. สมุฏฐาน ทั้ง ๓ ธาตุทั้ง ๔ ไม่สมบูรณ์
๒. การไหลเวียนเลือดลม ไม่ปกติ ไม่มีกำลัง
๓. เลือดน้อยโลหิตจาง
๔. มดลูกผิดปกติ ไม่แข็งแรง
๕. ช่วงมีรอบเดือน กระทบเย็น เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม
ทำให้ วาตะ ติดขัด เกิดภาวะเลือดคั่ง
๖. อารมณ์ เครียด แปรปรวน เป็นประจำ
๗. การมีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม ขาดความสุขสม

แนวทางรักษาหญิงที่มีบุตรยาก
๑. ปรับสมุฏฐาน ทั้ง ๓ บำรุงธาตุ ปรับธาตุทั้ง ๔ ให้สมบูรณ์ บำรุงกำลัง
๒. ปรับรอบเดือนให้ปกติ
๓. บำรุงมดลูกให้แข็งแรง
๔. กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด บำรุงเลือด
๕. ควบคุมอารมณ์ ไม่โหมงานหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ
๖. กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

หากมีปัญหา มีบุตรยาก แพทย์แผนไทย ช่วยท่านได้นะครับ

ยส พฤกษเวช


“ กินพออิ่ม ไม่เกินอิ่ม ”

ขยะ ในเมืองมาก เพราะอุปโภค บริโภคมาก
หากต้องการลดขยะ ต้องลดอุปโภค บริโภค
พิษ หรืออนุมูลอิสระ ในร่างกายก็เช่นกัน
มีมากเพราะส่วนหนึ่งมาจากบริโภคมากเกิน
ร่างกายขับออกไม่หมด สะสมอยู่ภายใน เกิดพิษ
ควรบริโภคแค่พอเพียงต่อความต้องการ

“ กินพออิ่ม เป็นคุณ
กินเกินอิ่ม เป็นพิษ ”
“อำนาจใช้พอดี เป็นคุณ
อำนาจใช้เกินพอดี เป็นพิษ ”

ยส พฤกษเวช


“ portrait ”

“ portrait ” เป็นศิลปะการวาดรูปคนเหมือน
ศิลปินแต่ละคน วาดภาพคนเดียวกัน
มีวิธีการความคิดแตกต่างกัน
ความคิดสร้างสรรค์แตกต่างกัน
การเริ่มต้นแตกต่างกัน
แต่ผลงานสุดท้ายได้รูปคนเดียวกัน
ในวิธีการที่แตกต่างกัน
แต่มีองค์ความรู้ในงานศิลป์อย่างเดียวกัน

แพทย์แผนไทย ก็เช่นเดียวกัน
วิธีการรักษาคนไข้อาจแตกต่างกัน
แต่มีองค์ความรู้ในวิชาแพทย์เดียวกัน
ผลสุดท้ายคือ คนไข้หายป่วย คลายทุกข์

ยส พฤกษเวช


“ กุศลธรรม ”

“ ศีล ” มีลักษณะเป็นที่ตั้ง
“ ศรัทธา ” มีลักษณะผ่องใสและแล่นไป
“ วิริยะ ” มีลักษณะค้ำจุนไว้
“ สติ ” มีลักษณะเตือนและถือไว้
“ สมาธิ ” มีลักษณะเป็นหัวหน้า
“ ปัญญา ” มีลักษณะตัดและทำให้สว่าง

กุศลธรรมเหล่านี้มีไว้เพื่อฆ่ากิเลส
หากแพทย์คนใดมี กุศลธรรม เหล่านี้
ย่อมเป็นแพทย์ผู้ประเสริฐ
เป็นที่พึ่งแก่คนไข้ทั้งปวง

ยส พฤกษเวช


“ กติกธาตุ ”

“ กติกธาตุ ” เป็นภาวะ พิษ ปิตตะ กระทำโทษ
ทั้งในกองธาตุ และกองสมุฏฐาน
ส่งผลให้เกิดภาวะ ปิตตะกำเริบ มีภาวะร้อนยิ่งนัก

คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์ ได้กล่าวถึง “ กติกธาตุ ”
ในหัวข้อ “ ลักษณะอสุรินธัญญาณธาตุ ” ไว้ดังนี้

“ กติกธาตุ ยิ่งไปด้วยสรรพพิษทั้งปวง เช่น พิษดี
พิษเสมหะ พิษลม พิษอันพิเศษคือ เพลิงธาตุนั้นแรง
เผาอาหารฉับพลัน โทษกาลเตโช มีอาการจับเชื่อมมัว
ทั้งกลางวันและกลางคืน มิได้เว้นเวลา ปวดศีรษะ
ผิวเนื้อแดง ตาแดง ขัดอุจจาระ / ปัสสาวะ
ให้อุจจาระเป็นพรรดึก ”

ยส พฤกษเวช


“ กษัย ไตพิการ ”

ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ท้องผูก ท้องเสีย เรื้อรัง
เป็นสัญญาณ กษัยเบื้องต้น
ปวดหลัง ปวดเอว เรื้อรัง
เป็นสัญญาณ กษัย ไตพิการ
อาจมี ภาวะกระดูกเสื่อม
หากมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์
เพื่อบำบัดเสีย อย่าปล่อยไว้
จะเกิดโรคร้ายตามมา

ยส พฤกษเวช


“ ก่อนนอน ”

ควรดื่มน้ำอุ่น ๆ ๑ แก้ว
ไหว้พระ สวดมนต์ แผ่เมตตา

“ ตื่นนอน ”

ควรดื่มน้ำอุ่น ๆ ๒ แก้ว
กายบริหาร ยืดเหยียดร่างกาย
อบอุ่นร่างกาย ๒๐ นาที
ถูกแสงแดดอ่อน ๆ อากาศบริสุทธิ์
ดื่มน้ำอุ่น ๆ อีก ๒ แก้ว
ถ่ายท้องทุกวัน
ทำได้ทุกวันห่างไกลสมองเสื่อม

ยส พฤกษเวช


“ สัปปายะ ”

“ สัปปายะ ” หมายถึง สบาย สภาพเอื้อ
สภาวะที่เกื้อหนุน สิ่ง สถานที่ หรือบุคคลซึ่งเป็นที่สบาย
เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้อ อำนวย
โดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อหนุน การบำเพ็ญ
และประคับประคอง รักษาสมาธิ
กล่าวอีกอย่างได้ว่า สัปปายะ หมายถึง
สถานที่พอสบาย ๆ หรือสบายแบบพอดี ๆ
ไม่มากไป หรือ น้อยไป เพื่อประโยชน์
ในการบำเพ็ญ ภาวนา คลายความยึดมั่นถือมั่น นั่นเอง
สัปปายะ เป็นศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

มีสถานบริการขายบริการ ที่ใช้ชื่อว่า “ สปา ”
มักนำคำว่า “ สัปปายะ ” ไปใช้
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสถานประกอบการ
สปา เป็นสถานประกอบการที่ขายบริการ
บำรุงบำเรอด้วยเบญจกามคุณ คือ
รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
ซึ่งทางพุทธศาสนา ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทางแพทย์แผนไทย ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดโรคภัย
หลักคิดและการกระทำของธุรกิจสปา
จึงเป็นปรปักษ์ กับหลักคิดทางพุทธศาสนา
และ เป็นปรปักษ์กับหลักคิดทางแพทย์แผนไทย

การปฏิรูปแพทย์แผนไทยที่กำลังจะเกิด
ได้มีการคิดที่จะนำแพทย์แผนไทย
ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สปา
ความคิดและการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการทำลาย
และดึงให้แพทย์แผนไทยตกต่ำ อย่างไม่น่าให้อภัย

หากคิดที่จะปฏิรูปแพทย์แผนไทย
จะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันสุขภาพ การบำบัดรักษาโรค เท่านั้น
ไม่ใช่นำไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
ที่เป็นปรปักษ์กับแพทย์แผนไทย และ พระพุทธศาสนา

ยส พฤกษเวช


“ การนวด ”

การนวดเป็นวิธีการหนึ่ง ที่หมอใช้
ในการบำบัด ความเจ็บไข้
ความไม่สบายของมนุษย์
ไม่ว่าการนวดนั้น จะมีชื่อสมมุติอย่างไร
นวดแบบไหน นวดเพื่อบำบัด เพื่อผ่อนคลาย
มันก็เป็นการช่วยเพื่อนมนุษย์ ให้พ้นทุกข์ได้

ยส พฤกษเวช


“ การพึ่งพา ”

การพึ่งพา คือภาวะ “ การพึ่งตนเองไม่ได้ “
ประเทศไทย อยู่ในภาวะพึ่งตนเองไม่ได้
ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม
ปลูกข้าว ยังต้องพึ่ง ปุ๋ยจากต่างประเทศ
แพทย์แผนปัจจุบัน เราพึ่ง ปัญญาต่างชาติ
มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นภาระของชาติอย่างมาก
คนในชาติต้องแบกภาระ “ ซื้อปัญญาต่างชาติ “

แพทย์แผนไทย แพทย์พึ่งตนเอง ไม่พึ่งพา
พึ่งปัญญาตนเอง ไม่พึ่งปัญญาต่างชาติ
รู้ รักษ์ ภุมิปัญญา รู้ รักษ์ สมบัติของแผ่นดิน
เกิดเป็นคนไทยต้องรู้ รักษ์ แพทย์แผนไทย

ยส พฤกษเวช


“ พิษอารมณ์ ”

ทุกความคิด ทุกความรู้สึก ทุกความปรารถนา
ย่อมมีผลต่อร่างกายเสมอ
ทุกความโกรธ โลภ หลง อาฆาต พยาบาท
การจองเวร ความอิจฉา เครียด วิตกกังวล
เป็นไฟที่เผาตนเอง ให้มอดไหม้อย่างไม่รู้ตัว
เมื่ออารมณ์ มีสภาวะเครียด พลังในร่างกายจะแปรปรวน
ธาตุทั้ง ๔ ก็จะแปรตาม ช่วงนี้ร่างกายจะสร้างมลพิษขึ้นมา
สภาวะการเสียสมดุลจะเกิดขึ้น การเจ็บป่วยก็จะตามมา

พิษอารมณ์ เกิดได้กับทุกคนที่มีอารมณ์
ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว สะสมเรื่อยมา
ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้อย่างไม่รู้ตัว
ที่สำคัญยากต่อการรักษา
ยากต่อการยอมรับของผู้ป่วย

การรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ที่มีเหตุจากพิษของอารมณ์
จะเห็นผลเร็วในระยะสั้น แต่จะชะลอตัวลงในระยะกลาง
เหตุเพราะพิษของอารมณ์ ยังไม่ถูกขจัดหมดไป
ผู้ป่วยบริหารอารมณ์ไม่ได้
หมอต้องมีกุศโลบาย อย่างแยบคาย รักษาอารมณ์
เมื่อผู้ป่วยยอมรับ จะเป็นผลดีต่อการรักษา

อาการป่วยที่เกิดจากพิษของอารมณ์
เช่น โรคซึมเศร้า ไมเกรน พาร์กินสัน
หัวใจ ความดันโลหิตสูง มือสั่น
กรดไหลย้อน สะเก็ดเงิน มะเร็ง
กระเพาะอาหารและลำไส้ ภูมิแพ้
มีอาการปวดโดยหาสาเหตุไม่ได้
ส่วนใหญ่มักมีอาการที่หาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น

ยส พฤกษเวช


“ สัญญาณก่อนป่วย ”

สัญญาณก่อนป่วย เป็น อาการที่ทำให้คนรู้สึกผิดปกติ
อาการไม่ชัดเจน ไม่ตรงอาการว่าเป็นโรคอะไร
ไปพบหมอหลายหมอ ก็ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร
อาการต่าง ๆ เช่น

ง่วงนอนตลอดเวลา ง่วงหลังอาหารกลางวัน
หงุดหงิดง่าย นอนไม่เต็มอิ่ม
เหงื่อออกง่าย เหงื่อออกตอนกลางคืน
เมื่อยตัวหาเหตุไม่ได้ ปวดตัวหาเหตุไม่ได้
อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกวูบ ๆ วาบ ๆ
รู้สึกเป็นไข้ตอนบ่าย หนักเนื้อหนักตัว
นอนฝันตื่นเต้น ตลอดคืน ตาแห้ง
ท้องอืด ท้องเฟ้อ ประจำ
ท้องผูกประจำ ท้องเสียประจำ ฯลฯ เป็นต้น

ไปพบหมอ หมอหาสาเหตุไม่ได้
หมอปัจจุบันมักตรวจบริเวณที่มีอาการ
แล้วระบุชื่อโรค
แต่ถ้าไม่สามารถระบุชื่อโรค
หรือหาวิธีรักษาที่เหมาะสมไม่ได้
ก็หมายความว่า หมดทางรักษา

แพทย์แผนไทย จะไม่ยึดติดชื่อโรค
แต่จะพิจารณา อาการของสมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ
กระทำโทษในกองธาตุทั้ง ๔ อย่างไร
แล้วค้นหา มูลแห่งเหตุ
ที่ทำให้ ปิตตะ วาตะ เสมหะ แปรปรวน
เมื่อทราบแล้วจึงหาวิธีการที่เหมาะสม
เพื่อปรับสภาวะ ปิตตะ วาตะ เสมหะ ให้เหมาะสม

อาการสัญญาณก่อนป่วย หากปล่อยไว้ไม่รักษา
จะกลายเป็นโรคขึ้นมาจริง ๆ
แพทย์แผนไทย มีวิธีรักษาอาการ ก่อนที่จะป่วยจริง
เป็นการบำบัด ป้องกัน ก่อนเกิดโรค
การบำบัด รักษาก่อนเกิดโรค เป็นหลักการรักษา
ของแพทย์แผนไทยอย่างหนึ่ง
เป็นการคุ้มครองร่างกายให้ห่างไกลโรคร้าย
ซึ่งคนทั่วไปสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

ยส พฤกษเวช


“ พิษ ก่อโรค ”

พิษ ที่ว่านี้คือ พิษของ ปิตตะ วาตะ เสมหะ
พิษ เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
ตรงข้ามกับสรรพคุณ
พิษ ติดขัด คั่งค้างอยู่ภายใน
ทำให้เกิดโรคร้ายได้ เช่น

พิษ คั่งค้างที่สมอง ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม
พิษ คั่งค้างที่ตับ ทำให้เกิดโรคตับ
พิษ คั่งค้างที่ไต ทำให้เกิดโรคไต
พิษ คั่งค้างในเลือด ทำให้เกิดโรคเลือด
พิษ คั่งค้างในกระดูก ทำให้เกิดโรคกระดูก
พิษ คั่งค้างในลำไส้ ทำให้เกิดโรคลำไส้
พิษ คั่งค้างในเส้น ทำให้เส้นเสื่อม
พิษ คั่งค้างในต่อมน้ำเหลือง
ทำให้เกิดโรคต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ยส พฤกษเวช


“ ใจ ”

“ ใจ ” เป็นสภาวะที่พบยาก
“ ใจ ” เป็นสภาวะที่พลัดพรากได้ง่าย
“ ใจ ” ใครพบก็ดับทุกข์
“ ใจ ” ใครพบก็ไม่ยึดสุข

ยส พฤกษเวช


“ ปฏิรูปแพทย์แผนไทย ต้องคิดแบบแผนไทย ”

การพัฒนา ปฏิรูป สิ่งใด เราต้องเข้าใจหลักคิดสิ่งนั้นเสียก่อน
เพื่อกำหนดแนวทาง การปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับสิ่งนั้น
การปฏิรูปแพทย์แผนไทย มักติดขัด มีอุปสรรค
เพราะไม่สอดคล้องกับหลักคิดแบบแพทย์แผนไทย

แพทย์แผนตะวันตก มักเป็นผู้นำในการปฏิรูปแผนไทย
โดยนำหลักคิดแผนตะวันตก มาเป็นแนวทางปฏิรูปแผนไทย
แล้วเมื่อไร แพทย์แผนตะวันตก จะเข้าใจหลักคิดแพทย์แผนไทย ?
“ ปฏิรูปแพทย์แผนไทย ต้องคิดแบบแผนไทย ”

ยส พฤกษเวช


“ คำกล่าวนี้อยู่คัมภีร์เล่มไหน ? ”

“ คำกล่าวนี้อยู่คัมภีร์เล่มไหน ? ” เป็นคำถามตอบยากที่สุด
มีหลายคนถามความคิดเห็นเกี่ยวกับ
องค์ความรู้แพทย์แผนไทยกับกระผม
กระผมแสดงความคิดเห็นออกไป
มักจะโดนตั้งคำถามดังกล่าวกลับมา
ขอบอกตามตรงว่าเป็นคำถามที่ ตอบยากมากจริง ๆ
กระผมจะตอบคำถามตามความรู้ ความเข้าใจ
ตามประสบการณ์ ที่ได้ใช้ประกอบวิชาชีพ
กระผมไม่ได้ตอบโดยอ้างคัมภีร์ใด ๆ ทั้งสิ้น
ทำให้คำตอบของกระผมไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ
กระผมพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกท่าน
ที่จะให้กระผมไปร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ
องค์ความรู้ ประสบการณ์ ในวิชาชีพแพทย์แผนไทย
แต่ขออย่าตั้งคำถามกับกระผมว่า
“ คำกล่าวนี้อยู่คัมภีร์เล่มไหน ? ”

ยส พฤกษเวช


“ กฎธรรมชาติ อยู่เหนือ กฎมนุษย์ ”

กฎทุกกฎ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ย่อมมีข้อยกเว้น จึงมักขาดความยุติธรรม
กฎของธรรมชาติ ไม่มีข้อยกเว้น ยุติธรรมเสมอ
ผู้มีปัญญา เป็นผู้ที่ เรียนรู้ ดำรงตนให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ
ปราศจากการยึดมั่นถือมั่น
เรียนรู้ธรรมชาติ รู้กฎไตรลักษณ์
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อย่างปรมัตถ์ตามความจริงสูงสุด
อย่างถึงแก่นถึงแกนเป็นที่สุด

ยส พฤกษเวช


“ สุนัขดูน่ารัก เมื่อมันพยายามเดินแบบคน ”

สุนัขดูน่ารัก เมื่อมันพยายามเดินแบบคน
เป็นเช่นนี้ เพราะว่า มันเป็น สุนัข
คำกล่าวข้างต้นนั้น เป็นคำกล่าวของ รัชกาลที่ ๖
ในเชิงตำหนิ คนไทยที่พยายามทำตัวเลียนแบบฝรั่ง

แพทย์แผนไทย ต้องเคร่งครัดในเอกลักษณ์ของตน
การพัฒนา การนำวิชาแผนอื่นมาประกอบ สามารถทำได้
แต่ต้องไม่เสียหลักวิชาของแผนไทย
หากใช้ยาไทย การตรวจ การวินิจฉัย ต้องเป็นแบบแพทย์แผนไทย
“ รู้ว่ายาใด จะควรแก้โรคชนิดใด ”

ยส พฤกษเวช


“ ความเคยชิน ทำร้ายฉัน ”

ความเจ็บป่วยมากมาย มักมีสาเหตุมาจาก “ความเคยชิน”
เคยชินกับการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน
เมื่อเหตุมาจากความเคยชิน ยาแก้คือ “การเปลี่ยนแปลง”

แพทย์แผนไทยก็เช่นกัน
เคยชินกับการเรียนการสอน “สืบทอดต่อ ๆ กันมา”
ขาดการปรับปรุงพัฒนา
เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน หลงผิด ต่อ ๆ กันมา
พื้นฐานองค์ความรู้ผิดเพี้ยน ปล่อยไว้คงสูญหายแน่นอน
อาการป่วยของแพทย์แผนไทย แก้ไขได้โดย “การเปลี่ยนแปลง”

ยส พฤกษเวช


“ หน้าที่ของหมอไทย ”

หน้าที่ของหมอไทย คือ ขจัดเหตุ
ที่ขัดต่อธรรมชาติ ในกองธาตุทั้ง ๔
เมื่อพลังในกองธาตุทั้ง ๔ อยู่ในภาวะสมดุล
ธาตุทั้ง ๔ ก็จะเป็นปกติ
ธาตุทั้ง ๔ ปกติ ร่างกายก็ปกติ

ยส พฤกษเวช


“ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ”

จุดประสงค์ แพทย์แผนไทย ก
ผู้เรียนส่วนใหญ่ สนใจใคร่รู้
ปรับใช้ดูแลสุขภาพ เป็นทางเลือก
ส่วนน้อยมากที่สนใจจะไปเป็นหมอ
โดยที่ เมื่อได้ใบประกอบแล้ว
ต้องไปศึกษาต่อเพิ่มเติม

แท้จริง ไม่ใช่ผลิตคนมาเป็นหมอพาณิชย์
แท้จริง ต้องการรักษาหยดน้ำที่เหลือไว้
แท้จริง ต้องการ คนไทยพึ่งตนเองได้ด้านสุขภาพ
แท้จริง ต้องการ คนไทยพึ่งตนเองได้ทางด้านยารักษาโรค
แท้จริง ต้องการ คนไทยรักษามรดกชาติไว้

เราไม่ได้ต้องการโรงงานผลิตหมอไทย
กิจกรรมแผนไทย ก เป็นกิจกรรมรักษามรดกชาติ
แท้จริง รัฐควรเข้ามาส่งเสริม ขจัดปัญหา
ไม่ใช่สร้างกฎ ข้อบังคับ ที่เป็นอุปสรรค

เมื่อกิจกรรมรักษามรดกชาติยุติ
กิจกรรมปล้นมรดกชาติก็จะตามมา
ด้วยคำว่า “เพื่อมาตรฐาน พัฒนา ประชาชน”

ยส พฤกษเวช


ขอแนะนำการฝึกเพื่อเตรียมตัวสอบนวดปฏิบัติ

๑. ฝึกนวดพื้นฐานให้คล่อง สำนักไหนก็ได้ พื้นฐานศีรษะ บ่า คอ ไหล่ แขน ขา หลัง ท้อง
๒. เลือกฝึกนวดแก้อาการไว้ ๑๐ อาการโรค
๓. ฝึกการตรวจร่างกายก่อนนวด ซักประวัติ ฝึกจับชีพจร ข้อมือ และที่เท้า ดูลม บน ล่าง เสมอไหม
๔. ฝึกทำลูกประคบ มีสมุนไพรอะไรบ้าง
๕. การอบตัว มีขั้นตอน ข้อห้ามอะไรบ้าง มีสมุนไพรอะไรบ้าง
๖. ฝึกการเขียน ใบ OPD
๗. การวางแผนการนวด การให้คำแนะนำ
๘. การนวดต้องมีขั้นตอน การจัดท่าผู้ป่วย ท่าผู้นวด การลงน้ำหนัก การปล่อยน้ำหนัก
๙. การนวดต้องมีท่ามีทาง มีจังหวะ อย่ารีบ อย่าเสียสมาธิ
๑๐. ควรมีการสอบถามอาการ ความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย ระหว่างการนวด
๑๑. ทบทวนกรณีห้ามนวด ไว้ด้วย ถ้าห้ามนวดแล้ว เราจะส่งต่อผู้ป่วยอย่างไร อย่าเผลอไปนวด
๑๒. ทบทวนเส้นสิบไว้ด้วย วาดแผนภาพได้ อธิบายทางเดินเส้นได้ และดูลมประจำเส้นด้วย พร้อมอาหารแสลง
๑๓. สุดท้ายต้องทำให้เขาเชื่อได้ว่าเราเป็นหมอนวดแก้อาการได้
ขอให้โชคดีในการสอบนะครับ

ยส พฤกษเวช


“ การปรุงยา การผลิตยา ”

“ การปรุงยา ” คือ การประสมหรือประกอบให้เหมาะสม
ของเครื่องยาตามส่วน ตามอัตราส่วน ที่กำหนด
ที่สำคัญต้องพิจารณา สมุฏฐานของยา ของเครื่องยา
รส ฤทธิ์ของยา ของเครื่องยา ผลที่ได้เรียกว่า “ ตำรับยา ”

“ การผลิตยา ” คือ การทำให้เกิดมีขึ้นตามที่ต้องการ
ด้วยแรงงาน หรือ เครื่องจักร โดยไม่ได้พิจารณาสมุฏฐานของยา
เครื่องยา รส ฤทธิ์ ของยา ของเครื่องยา ผลที่ได้เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ยา”

หมอ คนไข้ ต้องการ ตำรับยา ไม่ใช่ ผลิตภัณฑ์ยา
หมอไทย เป็นนักปรุงยา เป้าหมายเพื่อคนไข้
นักผลิตยา เป้าหมายเพื่อ กำไรสูงสุด
การผลิตยาไทย ที่ไม่พิจารณา รส ฤทธิ์ ของยา เครื่องยา
จะเป็นตัวทำร้ายแพทย์แผนไทย ในอนาคต

ยส พฤกษเวช


“ ใบไม้ในกำมือ ”

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า
“ ความจริงของโลกนี้ ไม่ต่างจากใบไม้ในป่า
แต่ความจริงที่นำมาสอนนั้น เปรียบได้กับใบไม้ในกำมือ ”
ใบไม้ในกำมือ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น
เพียงพอที่จะทำให้คนห่างไกลจากความทุกข์
ไม่จำเป็นต้องรู้ใบไม้ทั้งหมดในป่า หรือต้องมีความรู้
มากมายในเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่บนโลกใบนี้
ไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด แต่รู้ในสิ่งสำคัญก็พอ

ในทางการแพทย์แผนไทย
ขอเปรียบคัมภีร์ที่ใช้เรียน เสมือน “ ใบไม้ในกำมือ ”
ความรู้ในคัมภีร์ ยังน้อยนิด และ ยังมีความคลุมเครือ
ยังต้องศึกษาในเชิงลึก กว้าง ให้มากกว่านี้
ที่สำคัญ ต้องมีความรู้เทียบเคียงกับแพทย์ทางเลือกอื่น
มีประสบการณ์ มีทักษะพอสมควร จึงนำความรู้ไปปรับใช้ได้
และต้องเรียนรู้ไม่จบสิ้น
ความรู้ทางศาสนา เป็นความรู้ที่นำมาพัฒนาจิตของตนเอง
ความรู้ทางการแพทย์ เป็นความรู้ที่นำมาดูแลสุขภาพผู้อื่น และตนเอง

ยส พฤกษเวช


“ สมุฏฐาน ธาตุ ฤดู ”

คำถาม
ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้อง
ข้อ ๑ . ธาตุเป็นที่ตั้งกองโรค
ข้อ ๒ . สมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ เป็นเหตุให้เกิดโรค
ข้อ ๓ . ฤดู เป็นเหตุให้เกิดโรค
ช่วยหาคำตอบให้ผมหน่อยครับ

ยส พฤกษเวช


“ ไตรลักษณ์ ”

ไตรลักษณ์ เป็นกฎของธรรมชาติ
ที่หมอไทยต้องรู้
“ อนิจจัง ” สภาวะความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
ไม่คงที่ ไม่ถาวร เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
“ ทุกขัง ” สภาวะที่ทรงอยู่ ในสภาพเดิมไม่ได้
บีบคั้น ขัดแย้ง
“ อนัตตา ” สภาวะไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

อนิจจัง ทำให้เกิด กลางวัน กลางคืน ฤดูกาล
ห่วงโซ่อาหาร สมุฏฐาน ๓ ธาตุทั้ง ๔ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ทุกขัง ทำให้เกิด ภาวะ เร่าร้อน เผาลน กระวนกระวาย
ทรมาน ต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อให้พ้นทุกข์ พ้นจากการ เจ็บป่วย
อนัตตา ทำให้รู้ว่า การเจ็บป่วย เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ
ต้องพิจารณา หาเหตุ แล้วจัดการกับเหตุนั้น
เมื่อขจัดเหตุแล้ว การเจ็บป่วยก็คลายไป

ยส พฤกษเวช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น