ข้อคิดและบทความ (2)

“ กษัยก้มหน้า ”

เป็นกษัยที่ไม่มีในคัมภีร์แพทย์แผนไทยนะครับ
แต่เป็นกษัยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
เป็นลักษณะ * อภิวาราภัยกษัย *
คือเป็นกษัยที่เกิดจากพิษภัยของอิริยาบถ
ซ้ำซากจำเจเป็นเวลานาน ๆ ประจำ ๆ

ลักษณะอาการ
ชอบความเป็นส่วนตัว ก้มหน้า ไม่สนใจคนรอบข้าง
มักอยู่ในอิริยาบถ นั่ง นิ่ง เนิ่นนาน
ซ้ำซาก จำเจ เรื้อรังเรื่อยมา

ส่งผลให้การไหลเวียนเลือด ลม ติดขัด
ปวดตึงกล้ามเนื้อหลัง บ่า คอ ไหล่
บางครั้งร้าวชาออกแขน บางครั้งปวดตึงขึ้นศีรษะ
ปวดเอว บางครั้งร้าวลงขาทั้ง ๒ ข้าง
หากไม่รีบแก้ไข มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ
ไตเสื่อมเร็ว สมองเสื่อมแน่นอน ในอนาคต

แนวทางแก้ไข
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
หมั่นขยับร่างกาย ออกกำลังกาย กายบริหาร
หลีกเลี่ยงอิริยาบถ นั่ง นิ่ง เนินนาน

ยส พฤกษเวช

“ ปวด ”

“ ปวด ” เป็นสภาวะติดขัด
ของพลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ
ภาวะติดขัดหาย อาการปวดก็หาย

“ ปวด ” เป็นสัญญาณ หรือภาษาของร่างกาย
ที่บอกถึงภาวะวิกฤต ภาวะติดขัด

หากกินยา เพื่อระงับอาการปวด เกินความจำเป็น
เท่ากับไปฝืนธรรมชาติ ไม่ให้แสดงภาวะวิกฤต
ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเตือนของร่างกาย
ทำให้เราไม่ทราบว่าเรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต
ทำให้เราละเลยแก้ไขปัญหา ที่เป็นเหตุให้เกิดอาการ ปวด
ปล่อยไว้นาน โรคร้ายจะหนักมากขึ้น ยากที่จะแก้ไข

เมื่อมีอาการปวด ต้องรีบหาทางแก้ไข
อย่ามัวแต่กินยาแก้ปวด
ที่น่าแปลกใจ
เมื่อหมอไทย ปวด
หมอไทย ( บางคน ) กิน พารา
เมื่อหมอปัจจุบัน ปวด
หมอปัจจุบัน ( บางคน ) หาหมอนวดไทย

ยส พฤกษเวช


“ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ”

“ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ”
“ ตน ” ในที่นี้ มิได้หมายถึง ตัวตน ที่เป็นรูปธรรม

“ ตน ” ในที่นี้ เป็นสภาวะธรรม
เป็นสภาวะของ “ จิต ” ที่เป็นกุศล
ความดีงาม ศีล สมาธิ ปัญญา
ความอดทน ความเพียร

การเรียนหมอ ก็ต้องมีคติ “ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ”
หมอ ต้องมี “ จิต ” ที่ดีงาม เป็นพื้นฐาน
ต้องหมั่นฝึกฝนตนเอง มีศีล สมาธิ ปัญญา
มีความอดทน ความเพียร

หากผู้เรียนหมอ ไม่มีพื้นฐานดังกล่าว
ก็ยากที่จะบรรลุความเป็นหมอได้

ยส พฤกษเวช


“ เนื้อแท้ เนื้องอก ”

เนื้อแท้ ในแพทย์แผนไทย คือ ความรู้ในพลัง
ของธรรมชาติ ที่แทรกอยู่ในกองธาตุ กองอุตุ กองอายุ
กาล อาหาร ภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วย เกิดโรคต่าง ๆ

เนื้องอก ในแพทย์แผนไทย คือ การประยุกต์
ดัดแปลงเนื้อแท้ให้เข้ากับแผนปัจจุบัน อย่างผิดเพี้ยน
หรือสอดแทรกด้วยพิธีกรรม เวทมนต์ คาถา โหราศาสตร์
หรือสอดแทรกด้วยตัวเลข ด้วยการคูณธาตุ ตั้งธาตุ

ที่กล่าวมามิใช่ต่อต้าน เนื้องอก แต่ต้องการให้รู้แจ้งใน เนื้อแท้
ไม่ใช่หลงอยู่แต่เนื้องอก จนละเลย เนื้อแท้
แพทย์แผนไทยไม่ใช่คัมภีร์ ตำนานเล่าขาน ไม่ใช่พิธีกรรม
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา เป็นเพียงสิ่งห่อหุ้มเนื้อแท้ ไว้เท่านั้น

แพทย์แผนไทย เป็นศิลปะแห่งการดูแลสุขภาพ
สอดคล้องกับธรรมชาติ และ วิถีชีวิต อย่างแยบคาย

ยส พฤกษเวช


" พระพุทธรูปทุกปาง "

คือ พระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
สรรพโรคต่าง ๆ
มาจากเหตุเดียวกัน
คือ ปิตตะ วาตะ เสมหะ ”

ยส พฤกษเวช

“ แพทย์แผนไทยไม่ใช่คัมภีร์
คัมภีร์ไม่ใช่แพทย์แผนไทย ”

อย่าหมกมุ่นอยู่กับคัมภีร์
ท่องคัมภีร์ได้ทุกเล่ม ก็เป็นหมอไม่ได้

แพทย์แผนไทยอยู่ในธรรมชาติ
ธรรมชาติเป็นบรมครูของแพทย์แผนไทย
เรียนรู้ธรรมชาติให้มาก ๆ
จึงจะเป็นหมอที่ชาญฉลาด

ยส พฤกษเวช


“ ประดง ผื่น คัน น้ำเหลืองเสีย ”

“ ประดง ” ชื่อโรคที่แสดงอาการออกเม็ด ผื่น และหรือมีอาการคันร่วมด้วย
“ ผื่น ” รอยโรค ที่เกิดจากการขับพิษของ ปิตตะ เสมหะ ภายในออกมา
พิษกระทำโทษในโลหิต และ น้ำเหลือง แสดงออกที่ผิวหนัง

“ คัน ” เป็นภาวะพิษวาตะ เข้าแทรก
“ น้ำเหลืองเสีย ” เป็นสภาวะสำคัญที่ทำให้เกิด โรคประดง

ประดงผื่นคันน้ำเหลืองเสีย มักมีมูลแห่งเหตุมาจาก
พิษ หรือ ของเสีย ที่มาจากอาหาร อากาศ อารมณ์
รอบเดือนที่ขับออกไม่หมด น้ำคาวปลา น้ำนมมารดา
เลือดจากมารดา เป็นต้น

เป็นสภาวะที่ร่างกายขับพิษออกมา
หมอต้องหาสาเหตุให้พบ จึงจะรักษาให้หายได้

แนวทางรักษา
๑. หามูลแห่งเหตุที่ทำให้ เลือด และ น้ำเหลืองเสีย แล้วระงับเสีย
๒. ระบาย ถ่าย ขับ กระทุ้งพิษ ที่อยู่ภายในให้หมดให้สิ้น
๓. ล้อมหรือควบคุมพิษ กล่อมพิษให้สงบ ไม่นำพิษมาเพิ่ม
๔. บำรุงโลหิต ฟื้นฟูภูมิต้านทาน

ยส พฤกษเวช


“ พิษเย็น ปวดประจำเดือน ”

หญิงบางคน มักมีอาการปวดท้อง
อย่างรุนแรง ช่วงก่อนหรือช่วงมีรอบเดือน
ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาน้อย
มีซีสต์ในรังไข่ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
มีเนื้องอกในมดลูก มีบุตรยาก

สาเหตุ
มีพิษเย็นกระทำโทษที่มดลูก
มีพังผืดเกาะที่มดลูก
มักทำงานในห้องแอร์เย็น ๆ ประจำ
มีภาวะ นั่ง นิ่ง เนิ่นนาน

ชอบเครื่องดื่มที่มีรสเย็น
พิษเย็น ทำให้รอบเดือน ติดขัด
วาตะติด เสมหะกลัด
เลือดลม ไหลเวียนไม่สะดวก

อาการปวดจึงเกิดขึ้น
โรคร้ายต่าง ๆ ก็ตามมา

แนวทางรักษา
๑. ป้องกันอย่ากระทบเย็น
๒. เลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น
๓. ทำร่างกายให้อบอุ่นไว้ โดยเฉพาะช่วงมีรอบเดือน
๔. ให้ประคบร้อนหรืออุ่น เพื่อบรรเทาอาการ
๕. หมั่นออกกำลังกาย เพื่อขับพิษเย็น
๖. นวดกระตุ้นการไหลเวียน อบตัวเพื่อขับพิษเย็น

การใช้ยา
๑. ใช้ยาที่มีฤทธิ์ร้อน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียน
๒. ใช้ยาบำรุงมดลูก เพื่อสลายพังผืด
๓.ใช้ยาบำรุงโลหิต

อาหาร
ควรกินอาหารที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียน
เช่น พริกไทย ต้นหอม ชิง ผักชีลาว ผักชีล้อม
ยี่หร่า สะระแหน่ เป็นต้น

ยส พฤกษเวช


“ พิษ ในสมอง ”

อารมณ์ ความเครียด อาฆาต
วิตกกังวล พยาบาท อิจฉา
ทำให้เกิดความร้อน สมองจะบวม

อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว
ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม
เกิดการตกค้างของพิษในสมอง

สมองจะขับพิษ ในเวลาหลับ
โดยเซลล์สมองจะหดตัวลง
เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาท
เพื่อให้น้ำไขสันหลัง ไหลชำระล้างได้

โดยเชื่อกันว่า หากไม่ล้าง
โปรตีนที่เป็นพิษ ที่เกิดจากการใช้สมอง
จะทำให้สมองผิดปกติหรือสมองเสื่อมได้

อย่านอนดึก ไหวพระ สวดมนต์
แผ่เมตตา ก่อนนอนด้วยนะครับ

ยส พฤกษเวช


“ โรคมือ เท้า ปาก พิษตานทราง ”

โรค มือ เท้า ปาก ในเด็ก แพทย์แผนไทยเรียกว่า “ พิษตานทราง ”
มักเกิดในเด็กที่มีสภาวะ ๓ ประการดังนี้

๑. ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ( ธาตุพิการ )
๒. เด็กมีสภาวะภูมิต้านทานต่ำ ( เพราะมีพิษหรือของเสียอยู่ภายใน )
๓. ได้รับพิษเพิ่ม ( พิษมาระคน )

“ พิษตานทราง ” เป็นพิษที่เกิดจาก สภาวะ “ หัดหลบใน ”
เมื่อเด็กเป็น หัด การรักษาไม่ถูกวิธี เกิดสภาวะ หัดหลบใน
เช่นนี้ จึงเกิดอาการท้องเสีย แต่หมอไม่ขับพิษออกมา
พิษจึงสะสมอยู่ภายใน

หรือเด็กเคยเป็นไข้รากสาด การรักษา ขับพิษออกไม่หมด
พิษจะสะสมอยู่ภายใน

หรือในเด็กอ่อน ระบบทางเดินอาหารไม่แข็งแรง
การย่อย การขับของเสีย ยังไม่แข็งแรง
เกิดสภาวะคั่งของเสีย เกิดพิษภายในขึ้นได้

หรือเด็กอ่อน เมื่อได้รับพิษ การขับพิษไม่มีประสิทธิภาพ
จึงเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ได้ง่าย

พิษหัดหลบใน พิษไข้รากสาด ที่สะสมภายใน
เมื่อคนไข้มีร่างกายอ่อนแอ หรือได้รับพิษเพิ่ม
พิษจะซ่านออกมาภายนอก เป็นพิษตานทราง

เจ็บป่วยขึ้น มีอาการออกเม็ด ออกผื่น ที่มือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า ปาก
มีไข้ เบื่ออาหาร เจ็บปาก ปากเปื่อย
ซึ่งอาการเจ็บป่วยนี้เป็นขบวนการ การขับพิษ ของร่างกาย

ปกติไม่อันตรายรักษาง่าย แต่ถ้าหากมีสภาวะแทรกซ้อน
คือสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดบวมน้ำ
เลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

สภาวะที่เป็นเช่นนี้ผมสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจาก
การได้รับเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ
ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่ปอด หัวใจ
ตลอดจนขึ้นสู่สมองได้ไวครับ

ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นโรคประเภทนี้ได้ หากมีภาวะ ๓ ประการดังกล่าว
แต่ในผู้ใหญ่จะไม่เรียกว่า พิษตานทราง จะเรียกว่า ไข้พิษ ไข้กาฬ

แนวทางการรักษาในเด็กเล็ก
หากมีไข้ ใช้ยาเขียวหอม ๑ - ๒ ช้อนกาแฟ ละลายน้ำสุก หรือน้ำดอกมะลิ
ให้กินทุก ๔ ชั่วโมง จนกว่าไข้จะลด

เมื่อไข้ลด ให้กินก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน
ใช้ยาตรีหอมร่วมด้วย เพื่อระบายพิษไข้ พิษที่คั่งค้างในลำไส้
ปริมาณยาดูตามคำแนะนำการใช้ยา

ใช้ยากวาดแสงหมึกร่วมด้วย กวาดคอ วันละ ๑ ครั้ง หลังจากรับประทานอาหารเย็น
โดยมีคำแนะนำดังนี้
แก้ท้องขึ้น ปวดท้อง ละลายน้ำกะเพราต้ม ใช้กิน
แก้ไอ ขับเสมหะ ละลายน้ำลูกมะแว้งเครือ หรือลูกมะแว้งต้น กวาดคอ
แก้ปากเป็นแผล แก้ละออง ปากเปื่อย ละลายน้ำลูกเบญกานีฝน ทาปาก

ในกรณีเด็กมีสภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังกล่าวข้างต้น
ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อหยุดสภาวะวิกฤต
เมื่อพ้นสภาวะวิกฤต ควรมารักษาด้วยยาไทย
เพื่อขับพิษออกให้หมด ให้สิ้น
ในผู้ใหญ่ รักษาตามหลัก ไข้พิษ ไข้กาฬ

ยส พฤกษเวช


“ โรคเวร โรคกรรม ”

โรคเวร โรคกรรม หมายถึง โรคที่เกิดจากชะตากรรม
การกระทำของตนในอดีต
ที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ เนิ่นนาน
เรื้อรังเรื่อยมา เมื่อถึงระดับหนึ่ง
ร่างกายรับไม่ไหว จึงแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา

วิธีการที่จะรักษา ให้หายจากโรคเวร โรคกรรมได้
หนทางเดียวก็คือ “ต้องแก้กรรม ”
หมายความว่า เราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา
ทั้งเรื่องการกินการอยู่ การดำรงตนให้เหมาะสม
สอดคล้องกับธรรมชาตินั่นเอง

ปัญหาสำคัญคือ
หลายคนอยากหายจากโรคเวร โรคกรรม
แต่ตนเองไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม
แบบนี้จะหายจากโรคได้อย่างไร
หวังพึ่งแต่หมอ พึ่งยาของหมอ
พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พึ่งเจ้าพ่อ เจ้าแม่
เจ้าป่า เจ้าเขา เชื่อหมอดู หมอเดา
เชื่อคนทรงเจ้า

อย่างเดียวที่ไม่ยอมพึ่งคือ “ พึ่งตนเอง ”
“ ในโลกนี้ไม่มีหมอเทวดา ไม่มียาวิเศษ ”

ยส พฤกษเวช


“ คัมภีร์แพทย์ องค์ความรู้ ”

คัมภีร์แพทย์ไม่ใช่องค์ความรู้
คัมภีร์แพทย์เกิดจากองค์ความรู้
องค์ความรู้ เกิดจากประสบการณ์
จากการเรียน การปฏิบัติ จนเกิดทักษะ
ตกผลึกเป็นความคิดรวบยอด

ที่ผ่านมายังไม่มีการวิเคราะห์หาองค์ความรู้
มีแต่เรียนคัมภีร์แพทย์ ท่องจำตาม ๆ กันมา

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแพทย์แผนไทย
เกิดสภาวะหดหาย ขององค์ความรู้
ไม่มีการพัฒนาต่อยอด ปรับใช้เหมาะยุคสมัย

ปัจจุบัน เริ่มมีการคิดรื้อฟื้น องค์ความรู้ดั้งเดิม
แต่กลับถูกปฏิเสธความคิด ถูกเรียกร้องหาแหล่งอ้างอิง

ปัญหาที่สำคัญ คือ ผู้ที่มีหน้าที่ พัฒนาแพทย์แผนไทย
ไม่ใช่แพทย์แผนไทย อ่านคัมภีร์ไม่เข้าใจ
แต่กลับเข้าใจแบบผิด ๆ ได้รับปลูกฝังความเชื่อแบบผิด ๆ มาตลอด

ถึงเวลาที่จะต้องสังคายนาแพทย์แผนไทย อย่างจริงจัง
เปิดใจรับความคิดที่แตกต่างจากความเชื่อเดิม ๆ ที่ผ่านมา

ยส พฤกษเวช


“ แผ่เมตตา ยอดยารักษา ตับ ”

วิธีใช้
แผ่ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น
และก่อนนอน ทำบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย
ทำจนละความโกรธได้ยิ่งดี

ผู้เป็นบัณฑิตย่อมรักการแผ่เมตตา
มีสรรพคุณรักษาสรรพโรค
ใช้บทสวดมนต์เป็นกระสายยาร่วมด้วย
จะมีสรรพคุณมากยิ่งขึ้น
กล่อมตับดีนักแล

ไม่ต้องพึ่งหมอ ไม่พึ่งยา พึ่งตนเอง
วิเศษนัก ใช้ได้ผลมามากแล้ว

ยส พฤกษเวช


“ ไข้ ”

ไข้ - เป็นสภาวะที่แสดงออกหรือสื่อให้รู้ว่า
ร่างกายมีภาวะผิดปกติ หรือสื่อให้รู้ว่า
โรคร้ายกำลังเข้าจู่โจม

ไข้ - เป็นสภาวะของการขาดความสมดุลของ
สมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุทั้ง ๔
อาการที่แสดงออกคือ ความผิดปกติของสภาวะร้อน – เย็น
ความผิดปกติของชีพจร ความผิดปกติของกองธาตุทั้ง ๔

ยส พฤกษเวช


“ ความผิดพลาดในอดีต
หากไม่ได้รับการแก้ไข
จะเป็นความถูกต้องในปัจจุบัน ”

การเรียน การสอนที่ผ่านมา
พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าล้มเหลว
การศึกษามุ่งเน้นเพื่อไปสอบ
เพื่อรับใบประกอบ ฯ
การเรียนการสอนมุ่งเชื่อครู เชื่อคัมภีร์
ห้ามคิดนอกครู นอกคัมภีร์

การเรียนการสอน ไม่ฝึกให้คิด ให้พูด ให้เขียน
ผู้เรียนจึงการทักษะ การคิด การพูด การเขียน
การเรียน การสอนยังคงแบบเดิม ๆ
ผลการเรียน การสอน ก็คงจะเป็นแบบเดิม ๆ

สิ่งสำคัญที่สุดของการเรียน การสอน คือ “ ครูแพทย์แผนไทย ”
หากครูแพทย์แผนไทย มีความรู้ ความเข้าใจ แบบผิด ๆ
ที่เชื่อ ตามสืบ ๆ กันมา
แบบนี้แล้ว จะสอนความรู้ที่ถูกต้องได้อย่างไร

ถึงเวลาแล้วที่แพทย์แผนไทย
ต้องสังคายนา องค์ความรู้
กลับคืนสู่ความถูกต้อง

ยส พฤกษเวช


“ ไข้เลือดออก ไข้หัด ไข้อีสุก อีใส เริม ภูมิแพ้ มะเร็ง ”

ไข้เลือดออก ไข้หัด ไข้อีสุก อีใส
เป็นไข้พิษ ไข้กาฬ ในคัมภีร์ตักศิลา
การออกเม็ด ออกผื่น เป็นการขับพิษออกจากภายใน
เป็นกลไก ตามธรรมชาติ ไม่ควรไปขัดขวาง

หมอไทย รักษา ไข้เลือดออก ไข้หัด อีสุก อีใส
เน้นการกระทุ้งพิษออกมา
ให้พิษขับออกมา ยิ่งมาก ยิ่งดี
โดยให้ยากระทุ้งพิษ เช่น ยาเบญจโลกวิเชียร ยาเขียว
ให้ภายในปราศจากพิษ ไม่ให้พิษเจริญ ลุกลามอยู่ภายใน

การรักษาของหมอปัจจุบัน จะเน้นการระงับพิษ ไม่ให้ออกมา
ให้ยาเพื่อฆ่าเชื้อต่าง ๆ เมื่อเม็ด ผื่นไม่เห็นแล้ว ก็หยุดการรักษา
ให้ความเห็นว่า รักษาหายจากโรคแล้ว

การรักษาแบบนี้ทำให้พิษ หรือเชื้อ หลบใน
การรักษา ตามแบบหมอปัจจุบัน ถือเป็นการ ขังพิษ ไว้ภายใน
ขังไว้เนิ่นนาน จนพิษเกาะกินอวัยวะภายใน
แบบนี้จะนำมาซึ่งสาเหตุของโรคร้ายได้
อย่างเบาก็เป็น ภูมิแพ้ เริม ภูมิต้านทานต่ำ
หนักเข้าถึงขั้นพิษลงตับ พิษลงไต สุดท้ายเป็นมะเร็งได้

พิษร้ายที่ฝังอยู่ในวัยเด็ก ในผู้ป่วย ไม่กระทุ้งออกมา
จะปะทุออกมาในวัยเป็นผู้ใหญ่ หรือเมื่อได้รับพิษเพิ่ม
จะกลายเป็นโรคร้าย ที่ยากต่อการรักษา
ไม่ว่าจะรักษาด้วยแพทย์แผนไหนก็ตาม

ยส พฤกษเวช


"ไข้กำเดาใหญ่"

เป็นไข้ในคัมภีร์ตักศิลา ลักษณะอาการ
ปวดศีรษะมาก ตาแดง ตัวร้อนเป็นเปลว
ไอ สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปาก คอ
เพดาน ฟันแห้ง ให้เชื่อมมัว เมื่อยทั้งตัว
สะบัดร้อนสะท้านหนาวไม่เป็นเวลา

บางทีผุดเป็นเม็ดเท่ายุงกัดทั้งตัว แต่ไม่มียอด
บางทีไอเป็นโลหิตออกทางจมูก/ปาก
ชักเท้ากำมือกำ แก้ไม่หายภายใน 3 วัน 5 วัน

สำคัญผิดว่าเป็นไข้เพื่อเส้นเพื่อลมอัมพฤกษ์และไข้สันนิบาต
ไม่รู้วิธีแก้ไข้กำเดาจะเกิดกาฬ 5 จำพวกแทรกขึ้นมา
คือ กาฬฝีพิษ กาฬฝีฟก กาฬคูถ กาฬมูตร กาฬสิงคลี
ไม่มีการผุดเป็นแผ่นเป็นวง แต่จะบังเกิดกาฬทีเดียว

ถ้าไม่ตายภายใน 7 วัน 9 วัน 11 วัน
จะกลายเป็นไข้สันนิบาตสำประชวรบุราณชวร
บอกไว้ให้แพทย์พึงรู้

ยส พฤกษเวช


“ การรักษาไข้เลือดออก ”

ยาที่ต้องเตรียม
๑. กลุ่มยาลดไข้กระทุ้งพิษ ยาเบญจโลกวิเชียร ยาจันทลีลา ยาเขียวหอม
๒. ยาแก้การอักเสบ ฟ้าทะลายโจร
๓. ยาขยายหลอดลม หนุมานประสานกาย
๔. กลุ่มยาแก้อาการท้องเดิน รากก้างปลาแดง เปลือกรากมะเดื่อชุมพร
เปลือกลูกทับทิม หรือยาเหลืองปิดสมุทร
๕. ยาแปรไข้ ยาครอบไข้
๖. ยาแก้ปอดอักเสบ

การวางยารักษาไข้
๑. ช่วงอาการไข้ตัวร้อนสูง ให้ยาเบญจโลกวิเชียร ครั้งละ ๑๕๐๐ มก. ต่อน้ำหนักตัว ๖๐ กก.
ใช้ยาเขียวหอมเป็นกระสายยา ละลายน้ำอุ่น ๆ หรือกินร่วมกันก็ได้
โดยให้ยาตามกำลังไข้ คือช่วงแรกไข้จะสูงมาก และไข้ขึ้นเร็ว ( ๓๙ – ๔๐ องศา c )

ให้ยาครั้งแรกแล้วรอดูอาการใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ไข้อาจลดลง
หากไข้ไม่ลด ให้ยาอีกครั้งหนึ่ง แล้วรอดู เมื่อไข้จะสูงขึ้น รีบให้ยาอีก
ห้ามให้ยาแล้วทิ้งคนไข้ไว้เด็ดขาด ให้เฝ้ารอดูอาการ จนกว่าไข้จะลดเป็นปกติ
ในช่วงแรกไข้จะไม่ลดลงมากนัก ให้ใช้การเช็ดตัวเข้าช่วยด้วย

เมื่อไข้เริ่มลดลง แต่ยังมีไข้อยู่ไม่สูงมาก ก็เปลี่ยนมาให้
ยาเบญจโลกวิเชียรทุก ๔ ชั่วโมง ใช้ยาเขียวหอมเป็นกระสายยา
และเมื่อไข้ลดลงมาเป็นเกือบปกติ ก็เปลี่ยนมาให้ยาก่อนอาหาร
เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน ให้ดื่มน้ำมาก ๆ

เมื่อไข้ไม่มีแล้ว ให้ยาต่อไปอีก ๗ วัน จึงให้หยุดยาเบญจโลกวิเชียร
ในช่วง ๑ ถึง ๓ วันแรก ที่ไข้ขึ้นสูง ต้องจัดการให้ไข้ลดลงให้เป็นปกติให้ได้
ภายใน ๓ วัน หากไม่ลดให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

๒. หากคนไข้มีอาการรุนแรง และหรือมีอาการปวดเมื่อยมาก
และมีอาการหวัด ให้กินยาตามข้อ ๑ ร่วมกับยาจันทลีลา ๑๕๐๐ มก.
ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน

๓. หากคนไข้มีอาการเจ็บคอ มีเสมหะ ต่อมทอลซิลอักเสบ น้ำมูกข้น
มีเสมหะสีเหลือง หรือ เขียว กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ
ให้กินยาตามข้อ ๑ ข้อ ๒ ร่วมกับ ฟ้าทะลายโจร ๑๕๐๐ มก.
ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน

ข้อควรระวัง การใช้ยาฟ้าทะลายโจร ห้ามใช้นานติดต่อกันเกิน ๗ วัน หรือ
ให้ระวังเกิดภาวะเย็น ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือในกรณีมีปัญหาการเต้นของหัวใจ
หากจำเป็นต้องใช้เกิน ๗ วัน ให้หยุดยาทุก ๗ วัน เว้น ๔ วัน แล้วเริ่มใช้ใหม่ต่อไป

ถ้าไม่มีฟ้าทะลายโจร ให้ใช้ยาเบญจโลกวิเชียร แก้การอัดเสบแทรกซ้อนได้
โดยเพิ่มปริมาณยาในการใช้แต่ละมื้อขึ้นอีก เป็น ๒๑๐๐ มล.
แต่เมื่ออาการไข้ อาการอักเสบลดลง ต้องลดปริมาณเบญจโลกวิเชียรลงตามด้วย
โดยให้ตรวจปรอท หรือ จับชีพจรดูกำลังของปิตตะ อย่าให้ชีพจรจม
ซึ่งจะต้องดูองศาไข้ด้วย ว่า เข้าเขตของไข้สันนิบาตหรือยัง

ข้อควรระวังอีกอย่าง ในช่วงไข้ลด อย่าได้ประมาทว่าอาการดีขึ้นแล้ว
เพราะไข้อาจเข้าสู่สันนิบาต ชีพจรจะจม จะต้องหมั่นตรวจชีพจร อย่าให้จม
หากมีอาการชีพจรจม ให้ยาหอมบำรุงหัวใจ ประคองไว้
แล้วลดยาเบญจโลกวิเชียร กับฟ้าทะลายลง

๔. หากคนไข้มีการอักเสบแถวลิ้นปี่ เวลาไอ หายใจขัด ให้เพิ่ม
หนุมานประสานกาย ครั้งละ ๑๐๐๐ มก. ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น
ก่อนนอน เมื่ออาการดีขึ้น ให้กินต่ออีก ๒ – ๓ วัน แล้วงดหนุมานประสานกาย

๕. หากคนไข้มีอาการท้องเดิน ให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
รากก้างปลาแดง เปลือกรากมะเดื่อชุมพร เปลือกลูกทับทิม
หรือยาเหลืองปิดสมุทร ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ประมาณ ๑๐๐ กรัม
นำมาต้มกับน้ำ เป็นกระสายยา กินร่วมกับยาหลัก เมื่อท้องเดินหยุด
ก็ให้หยุดยาหรือกระสายยาแก้ท้องเดิน

๖. หากมีอาการหอบหรือปอดอักเสบ ให้ยาแก้ปอดอักเสบ ร่วมด้วย
ครั้งละ ๑๐๐๐ มก. ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน
เมื่ออาการดีขึ้นให้กินต่ออีก ๒ – ๓ วัน

๗. เมื่อคนไข้มีอาการเป็นปกติแล้ว ให้ตรวจดูตับ คลำตับดูว่าหย่อนไหม
ถ้าตับหย่อนให้ยาแปรไข้ ครั้งละ ๑๐๐๐ มก. วันละ ๔ ครั้ง
ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน ประมาณ ๓ – ๗ วัน

๘. ให้ยาแปรไข้แล้ว จึงให้ยาครอบไข้ เพื่อตัดรากขจัด
พิษไข้ให้หมดให้สิ้น อีกประมาณ ๑ – ๒ สัปดาห์ ครั้งละ ๑๐๐๐ มก.
วันละ ๔ ครั้ง ก่อนอาหารอาหารเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน

คำแนะนำ

- ให้นอนพักผ่อนมาก ๆ
- ห้ามอาบน้ำเย็น
- ให้ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดา ช่วยเช็ดตัว เพื่อลดไข้
- กินอาหารอ่อน ๆ
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- ห้ามกระทบกระเทือนหรือมีบาดแผลทั้งภายในภายนอก
- หากไข้ไม่ลดลงภายใน ๓ วัน ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ยส พฤกษเวช


“ ตับร้อน ยกนังเสมหะหย่อน ”

คำกล่าวนี้ไม่มีในคัมภีร์แพทย์แผนไทย นะครับ
ผมสมมุติบัญญัติขึ้นมาใช้เอง นะครับ
เป็นภาวะพลังเสมหะของตับหย่อนลง

ส่งผลให้พลังปิตตะของตับอยู่เหนือพลังเสมหะ
เกิดความร้อนลอยขึ้นรบกวน อุระเสมหะ ศอเสมหะ
มักเกิดในผู้สูงอายุ วัยทอง เครียด
วิตกกังวล ผู้ที่โหมงานหนัก
กินอาหารเผ็ดร้อน นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ

ลักษณะอาการ
มือ เท้า ร้อน หูอื้อ ตาลาย ตาแห้ง
สมรรถภาพของตับลดลง
หงุดหงิดง่าย ฝันมากมาย

นอนไม่ค่อยหลับ เหงื่ออกเวลานอน
มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดตาเป็น ต้อ
มักมีภาวะเลือดน้อย โลหิตแห้ง

แนวทางดูแลสุขภาพ

๑. เพิ่มสารน้ำเพื่อลดความร้อนของตับ
๒. ไม่เครียด วิตกกังวล มากเกินไป
๓. ไม่โหมงานหนัก
๔. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก
๕. กินอาหารใหม่สด ไม่ใช่อาหารอุตสาหกรรม
ห้ามอาหารกรุบกรอบ
๖. ออกกำลังกาย กายบริหาร ประจำ

การใช้ยา
ใช้ยาบำรุงตับ บำรุงร่างกาย
บำรุงโลหิต

อาหาร
กินอาหารใหม่สด ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
ไม่กินอาหาร อบแห้ง กรุบกรอบ เผ็ดร้อน
อาหารที่ควรกิน เนื้อปลา เนื้อหมู มันเทศ เก๋ากี้ ผัก ผลไม้สด ๆ

ยส พฤกษเวช


“ เครียด ท้องเสีย ”

ลักษณะอาการ
มีอาการปวดท้อง ท้องเสียเป็นประจำ
โดยเฉพาะหลังอาหาร
หรือเมื่อมีความเครียด วิตกกังวล
มักหงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ขี้โมโห
รู้สึกอุจจาระไม่สุด

แพทย์แผนปัจจุบัน มักวินิจฉัยว่า
เป็นโรคลำไส้แปรปรวน

สาเหตุ
มาจากความเครียด ที่ส่งผลกระทบ
ทำให้การทำงานของตับหย่อนลง
กระทบการทำงานของกระเพาะและลำไส้
เรียก เครียดลงกระเพาะก็ได้

แนวทางรักษา
๑. ทำใจให้เบิกบานเสมอ
อย่าเครียดหรือวิตกกังวล จนเป็นนิสัย
๒. หมั่นออกกำลังกาย กายบริหารประจำ
๓. ผักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก
๔. ไหว้พระ สวดมนต์ แผ่เมตตา ก่อนเข้านอน
๕. เรียนรู้การให้ อภัย วางอารมณ์ให้เป็นกลาง ๆ

การใช้ยา
๑. ใช้ยาหอมบำรุงหัวใจ คลายเครียด
๒. ให้ยาบำรุงตับ
๓. ให้ยากระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ลำไส้

อาหาร
๑. ไม่กินอาหารรสจัด เผ็ดร้อน เปรี้ยว หวาน มัน
๒. กินอาหารรสปานกลาง
๓. กินอาหารย่อยง่าย
๔. กินพออิ่ม ไม่เกินอิ่ม กินเป็นเวลา

ยส พฤกษเวช


“ ติดขัด ปัสสาวะ ”

ปัสสาวะติดขัด ไม่ไหลเวียน
ก่อให้เกิดภาวะคั่งของพลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ
นานเข้าทำให้เกิด พิษ ลมเป็นพิษ

เสมหะเป็นพิษ เกิดร้อน ชื้น ( อักเสบติดเชื้อ )
ปล่อยไว้นานทำให้เกิดโรคต่างๆ
ในระบบทางเดินปัสสาวะ
เช่น นิ่ว ท่อปัสสาวะอักเสบ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
นานไปทำให้เกิดภาวะกรวยไตอักเสบได้

ลักษณะที่แสดงออก
ปัสสาวะร้อน สีเหลืองเข้ม
ปัสสาวะบ่อย ติดขัด มีไข้

สาเหตุ
มักเกิดจากภาวะ นั่ง นิ่ง เนินนาน
กลั้นปัสสาวะเป็นประจำ กระทบชอกช้ำ
พลังต้องไหลเวียน ติดขัดทำให้เกิดพิษ

ยส พฤกษเวช


“ ความจริงแท้ มีสิ่งเดียว ”

ผู้ศึกษาธรรม ไม่ว่าอยู่ ณ แห่งใด
ส่วนไหนของโลก แม้ภาษาต่างกัน
เมื่อบรรลุธรรม เขาบรรลุในสิ่งเดียวกัน
ผู้ศึกษาวิชาแพทย์ ไม่ว่าอยู่ ณ แห่งใด
ส่วนไหนของโลก แม้ภาษาต่างกัน
เมื่อบรรลุวิชา เขาบรรลุในสิ่งเดียวกัน
“ ความจริงแท้ มีสิ่งเดียว ”

ยส พฤกษเวช



“ เครียด ประจำเดือน ”

หญิงบางคน มักมีอารมณ์เครียด
หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ปวดศีรษะ
บางครั้งมีอาการปวดบริเวณท้องน้อย
เจ็บหน้าอก

ลักษณะเด่นคือ ความเครียด หงุดหงิดง่าย
ก่อนมีประจำเดือน หรือช่วงมีประจำเดือน
สาเหตุ เพราะ หญิงเมื่อมีรอบเดือน โลหิต ตับ จะร้อน
เมื่อ ตับ ร้อน จะกระทบจิต ให้ร้อน
ให้เครียด หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย
( โลหิตํ หทยํ ชาตํ )

เมื่อเครียด ก็จะย้อนมากระทบการทำงานของตับ
สมรรถนะการทำงานของตับจะหย่อนลง
จะเกิดภาวะ วาตะคั่งในตับ ( ยกนังวาตะติดขัด )
วาตะคั่งในตับ จะยิ่งทำให้ ตับ ร้อนยิ่งขึ้น
และจะยิ่งไปกระทบจิตใจ ยิ่งทำให้เครียดมากขึ้น
( เกิดสภาวะ ปริทัยหัคคี กระทำโทษ )

แนวทางการรักษา
ทางที่ดีที่สุดคือ การวางอารมณ์ให้เป็นกลาง ๆ
ทำใจเย็น ๆ
ใช้ยาหอมบำรุงหัวใจ
นอนพักผ่อนมาก ๆ
ไม่โหมงานหนัก ครับ
หรือใช้ยาตามคัมภีร์มหาโชตรัต
เมื่อโลหิตระดูหมดไป อาการก็จะ คลายไป

ยส พฤกษเวช



“ รู้รักษ์ตับ ”

ตับ ของเรา สำคัญหนักหนา
คุณ ๆ เจ้าขา มารักษ์ตับกัน ดังนี้

๑. อาหาร
- ไม่กินอาหารรสจัด รสเผ็ดร้อน รสหวานจัด ไขมันสูง เปรี้ยวจัด
- ใช้ช้อนกลางทุกครั้งที่กินอาหารร่วมกับผู้อื่น
- กินพออิ่ม ไม่เกินอิ่ม
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด และ สารเสพติดทุกชนิด
- กินผักพื้นบ้าน ผลไม้ พอสมควร
- ไม่กินอาหารหลัง ๖ โมงเย็น
- ไม่กินอาหารอุตสาหกรรม ฟาสต์ฟูดต่าง ๆ ไม่กินอาหารกรุ๊บกรอบ
- กินอาหารที่เป็นธรรมชาติ สดใหม่ ผ่านกรรมวิธีน้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงอาหารผัด ทอด ปิ้งย่าง จนไหม้เกรียม

๒. วางอารมณ์ให้เป็นกลาง ๆ ไม่โกรธง่าย เรียนรู้การให้อภัย มีอารมณ์ขัน

๓. เป็นคนรักการออกกำลังกาย กายบริหาร

๔. หลีกเลี่ยงอิริยาบถ นั่ง นิ่ง เนินนาน

๕. ไม่หักโหมงานหนัก เกินกำลัง

๖. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก แต่ให้ตื่นเช้า ๆ

๗. ฝีกทำสมาธิบ่อย ๆ ไหว้พระ สวดมนต์ แผ่เมตตาเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนนอน

๘. อย่าให้ท้องผูก ถ่ายท้องได้วันละ ๒ ครั้งจะดี

๙. ใช้ยาไทยระบาย ล้างท้อง อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง หรือ สองอาทิตย์ ครั้งดีครับ

ยส พฤกษเวช



“ นอนไม่หลับ ลมละอองเพลิง ”

“ ลมละอองเพลิง ” ขอให้คำนิยามไว้ดังนี้
ลมละอองเพลิง เกิดจากสภาวะไฟย่อยอาหาร
ที่กระเพาะ ลำไส้ ตับ ล้นเกิน
ไอร้อนไฟย่อยลอยขึ้น เป็นลมละอองเพลิง

มูลแห่งเหตุที่ทำให้เกิดไฟย่อยอาหารล้นเกิน
มาจากพฤติกรรมการกินอาหาร ที่ไม่มีวินัย
กินอาหารไม่ถูกกับธาตุ กินเกินอิ่ม กินไม่เป็นเวลา

พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่มีวินัย
ส่งผลให้เกิดสภาวะติดขัดของพลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ
ที่บริเวณกระเพาะ ลำไส้ ตับ

ปล่อยไว้เรื้อรัง ส่งผลให้ ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน
ไม่สามารถบีบตัวลงล่างได้ตามปกติ
ขับลมลงล่างไม่ได้ ลมจึงลอยขึ้นบน
นานเข้าลมจะซึมทั่วร่างกาย ก่อโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา

“ ลมละอองเพลิง ” จะลอยขึ้นรบกวนไฟที่หัวใจ
ทำให้หัวใจมีสภาวะร้อนเกิน เกิด “ ไฟปริทัยหัคคี ” ตามมา
ไฟปริทัยหัคคี จะไปรบกวน ดวงจิต
ดวงจิต ถูกรบกวน จึงส่งผลต่อการ นอนไม่หลับ

แนวทางการรักษา
ต้องขจัดสภาวะติดขัด ปิตตะ วาตะ เสมหะ
และปรับสมดุล ปิตตะ วาตะ เสมหะ
ที่กระเพาะ ลำไส้ ตับ
และขจัดมูลแห่งเหตุที่ก่อโรค

ยส พฤกษเวช


“ นอนไม่หลับ ปริทัยหัคคี ”

ปริหัยหัคคี คือ ไฟสำหรับร้อนระส่ำระสาย ทำให้ใจรุ่มร้อน
ปริทัยหัคคี กระทำโทษ นอกจากทำให้เป็นคนโกรธง่าย
หงุดหงิดง่ายแล้ว มีอาการอีกอย่างคือ “ นอนไม่หลับ ”

ดวงใจเป็นที่ตั้งของดวงจิต
ดวงใจถูกกระทบ จะส่งผลถึงดวงจิต
ดวงจิตถูกกระทบ ทำให้อารมณ์แปรปรวน
อารมณ์แปรปรวน ส่งผลให้ดวงจิตไม่สงบ
จิตไม่สงบจะส่งผลกระทบต่อการ “ นอนไม่หลับ ”

ปริทัยหัคคีกำเริบ มักมีเหตุมาจาก

๑. ยกนังวาตะติดขัด จึงเกิดความร้อน
ความร้อนของตับ ลอยขึ้นกระทบหัวใจ
หัวใจจึงเกิดสภาวะร้อนเกิน เกิดเป็น “ ไฟปริทัยหัคคี ”

๒. เกิดจากคนที่มีภาวะหัวใจร้อนเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว
เมื่อมี “ ไฟ ” จากสัมผัสต่าง ๆ มากระทบเพียงเล็กน้อย
จึงง่ายต่อการเกิด “ ไฟปริทัยหัคคี ”

๓. เกิดจากเป็นคนคิดมาก วิตกกังวล เจ้าคิดเจ้าแค้น
อาฆาต พยาบาท โกรธง่าย สิ่งเหล่านี้ เป็นอารมณ์
ที่ทำร้ายดวงจิต เกิด “ ไฟปริทัยหัคคี ” ได้ง่าย

สาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะ ปริทัยหัคคีกำเริบ
มีได้มากมายด้วยมูลแห่งเหตุต่าง ๆ

แต่เหตุที่สรุปได้อย่างแท้จริงคือ เกิดจาก
สภาวะ ปิตตะ วาตะ เสมหะ กระทำโทษ
ทำให้ “ เลือดลม ” ขาดความสมดุล

ดังนั้นแนวทางแก้ไข จึงต้องปรับสมดุล
ของ “ เลือดลม ” และขจัดมูลแห่งเหตุนั้นเสีย

ยส พฤกษเวช


“ กษัย ไตพิการ ”

ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ท้องผูก ท้องเสีย เรื้อรัง
เป็นสัญญาณ กษัยเบื้องต้น

ปวดหลัง ปวดเอว เรื้อรัง
เป็นสัญญาณ กษัย ไตพิการ
อาจมี ภาวะกระดูกเสื่อม

หากมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์
เพื่อบำบัดเสีย อย่าปล่อยไว้
จะเกิดโรคร้ายตามมา

ยส พฤกษเวช


“ สุดยอดยา โภชนาบำบัด ”

อาหารและยา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์
อาหารและยามาจากแหล่งเดียวกัน
แพทย์แผนไทย มักใช้อาหารเป็นยา
ไม่ใช้ยาเป็นอาหาร ไม่มีอาหารเสริม
เพื่อป้องกัน รักษา บำรุง สุขภาพ

แพทย์แผนไทย ใช้อาหารควบคู่กับการรักษา
มิได้มุ่งเน้นแต่การใช้ยาแก้โรค
“ โรคเป็นที่ตั้งแห่งกองอาหาร ”

ยส พฤกษเวช


“ กินพิษ ดับความอยาก ดับกระหาย ”

คนมักกิน ดื่ม อาหาร เครื่องดื่ม ยา
เพื่อดับความอยาก ความชอบของตนเอง

อาหาร เครื่องดื่ม ยา ทุกชนิด
มีทั้งคุณ และ โทษพร้อม ๆ กันเสมอ

เราจึงควรมีสติ พิจารณาอย่างรอบคอบ
ทุกครั้งที่จะนำอาหาร เครื่องดื่ม ยา เข้าปาก

อาหาร เครื่องดื่ม ยา กินเป็นก็เป็น สรรพคุณ
อาหาร เครื่องดื่ม ยา กินผิดก็เป็น พิษ

คนส่วนมากมักชอบกินอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกายตัวเอง
หรือชอบกินอาหาร เครื่องดื่ม ยา อย่างต่อเนื่อง
นานไป กลายเป็นพิษ ทำร้ายร่างกาย จนป่วยไข้

ควรกินอาหารที่หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ
ควรกินยาที่หมอจัดให้ ไม่ซื้อยากินเอง

ยส พฤกษเวช


“ ร้อยผล หนึ่งเมล็ดเดียวกัน ”

หากเปรียบคัมภีร์แพทย์เป็นผลไม้
คัมภีร์แต่ละคัมภีร์ ก็เป็นผลไม้แต่ละอย่าง
ผลไม้แต่ละอย่างนี้ เนื้อหาแตกต่างกันออกไป
แต่เมล็ดในผลไม้นี้ เป็นเมล็ดเดียวกัน เหมือนกัน

อย่าเสียเวลาร้อยคัมภีร์อยู่เลย
มองหาเมล็ดเดียวกัน นั้นจะดีกว่า
เพราะในเมล็ดเดียวกันนั้น สามารถสร้างผลไม้
ที่มีเนื้อหาที่แตกต่างกันได้อีกมากมาย

ยส พฤกษเวช


“ ความหลับในความตื่น ”

ระหว่าง “ ใช่ ” กับ “ ไม่ใช่ ” นั้น
แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
ระหว่าง “ ดี ” กับ “ ชั่ว ” นั้น
แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
สิ่งที่ผู้อื่น กลัว นั้น
ก็มักจะทำให้เราต้อง กลัว ด้วย
นี่เรียกว่าเป็น “ ความหลับในความตื่น ” ..........วิถีแห่งเต๋า

ยส พฤกษเวช


“ ไข้กำเดา ”

ไข้กำเดา คือ ไข้ที่มีลักษณะอาการ ปวดหัว ตัวร้อนเป็นเปลว
เป็นอาการสำคัญ แล้วมีอาการอื่น ๆ ตามมา
อาการตัวร้อนเป็นเปลว หมายถึง อาการตัวร้อนสูง นั้นเอง
หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้มีอาการ ชัก ( ชัก เท้ากำมือกำ )

“ กำเดา “ หมายถึง เปลวแห่งวาโย โลหิต เสมหะ และสรรพสมุฏฐาน
อาจกล่าวได้ว่า กำเดา คือ เปลวแห่งความร้อน

หมอไทยได้เปรียบไข้กำเดา เป็นไข้สำคัญ เปรียบกับดวงอาทิตย์ คือ
ดวงอาทิตย์ ขึ้น ๑ ดวง โลกเป็นสุข
ดวงอาทิตย์ ขึ้น ๒ ดวง โลกกระวนกระวาย
ดวงอาทิตย์ ขึ้น ๓ ดวง สัตว์ทั้งหลายตายหมด

เปรียบเทียบกับลักษณะอาการไข้ของแผนปัจจุบันดังนี้
อุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ที่ ๓๖.๕ องศา
ถ้าอุณหภูมิมากกว่านี้ถือว่ามีไข้ อธิบายดังนี้
อุณหภูมิ ๓๗.๕ องศา ไม่เกิน ๓๘ องศา ถือว่า ไข้ต่ำ
อุณหภูมิ ๓๘ องศา ถึง ๔๑.๕ องศา ถือว่ามีไข้สูง
ถ้าสูงกว่า ๔๑.๕ องศา ถือว่าไข้สูงเกิน เป็นอันตรายที่สุด

ยส พฤกษเวช


“ รักษาไข้อย่าเสียดาย ขี้ ”

“ ขี้ ” เป็นของเสีย หรือ พิษ ที่ร่างกายขับออก
สิ่งที่ร่างกายขับออกมาเกรอะกรังอยู่

ออกทางทวารหนักเรียก อุจจาระ
ออกทางทวารเบาเรียก ปัสสาวะ
ออกทางทวารมดลูกเรียก รอบเดือน ประจำเดือน
ออกทางผิวหนังเรียก ขี้ไคล
ออกบนหนังศีรษะเรียก ขี้รังแค
ออกทางหูเรียก ขี้หู
ออกทางตาเรียก ขี้ตา
ออกทางจมูกเรียก ขี้มูก
ออกทางปากเรียก ขี้ปาก ( น้ำลาย )

“ ขี้ ” เป็นสิ่งที่แพทย์แผนไทย ต้องให้ความสำคัญ
เพื่อพิจารณาถึงสภาวะ ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในร่างกาย

“ ขี้ ” หากถูกขับออกไม่หมด จะสะสมอยู่ภายใน
นานวันจะก่อพิษ เป็นสาเหตุให้ร่างกายเจ็บป่วยได้
“ รักษาไข้อย่าเสียดาย ขี้ ”

ยส พฤกษเวช


“ รู้คิด รู้ประยุกต์ รู้พัฒนา ”

“ รู้คิด ” คือ การรู้และเข้าใจใน “ หลักคิด ”
ในวิชาหรือศาสตร์ที่เราศึกษา
ศาสตร์ต่าง ๆ มีหลักคิดที่แตกต่างกัน
พุทธศาสตร์ ก็มีหลักคิดอย่างหนึ่ง
แพทย์ศาสตร์ ก็มีหลักคิดอย่างหนึ่ง
สังคมศาสตร์ ก็มีหลักคิดอย่างหนึ่ง ฯลฯ

“ รู้คิด ” เป็นพื้นฐานของการ รู้จำ รู้วิเคราะห์
รู้สังเคราะห์ รู้จักปรับใช้ รู้จักต่อยอด

การศึกษาแพทย์แผนไทย ยังขาดการ “ รู้คิด ”
เน้นท่องจำคัมภีร์ คิดนอก คิดเกินคัมภีร์ ไม่ได้
คนที่ “ รู้คิด ” ในหลักคิดของคัมภีร์
จะถูกตราหน้าว่าเป็นคน อุตตริ อวดรู้ อวดเก่ง
นอกครู ไม่เคารพครู
จะถูกรวมหัวกันต่อต้าน จากกลุ่มบุคคลที่ “ เมาคัมภีร์ ”
พวก “ เมาคัมภีร์ ” จะไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง
มักอ้างแต่คัมภีร์ เรียกหาแต่คัมภีร์ อ้างแต่คำครู
ขโมยความคิดของผู้อื่น มากล่าวอ้าง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ไม่มีหลักคิด ไม่รู้จัก “ รู้คิด ”

คัมภีร์ เป็นบันทึกของบรรพบุรุษหมอไทย
บรรพบุรุษหมอไทย แต่งคัมภีร์ได้ ต้องมีการ “ รู้คิด ”
เนื้อหาสาระ ในคัมภีร์ เขาซ่อนหลักคิดไว้
ไว้ให้หมอไทย ที่ “ รู้คิด ” ได้ศึกษาเพิ่มเติม เป็นแนวปฏิบัติ
ดังนั้นการศึกษาคัมภีร์ อย่าเพียงแต่ท่องจำ
ต้องศึกษาให้ลงลึกถึงหลักคิด ให้รู้ “ รู้คิด ”
“ รู้คิด ” จึงรู้ประยุกต์ รู้พัฒนา

ยส พฤกษเวช


“ ทุกปัญหา นำมาซึ่งการพัฒนา ”

การแก้ปัญหา ทุกอย่าง มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนา
หากมีปัญหา แล้วไม่แก้ไข แบบนี้ไม่พัฒนา
การแพทย์แผนไทย ปัจจุบันมีปัญหามากมาย
ปัญหาคุณภาพการเรียน การสอน การสอบประเมิน
คุณภาพบุคลากรที่จบออกมา

เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ไข เพื่อการพัฒนา
ผู้ที่มีหน้าที่ ผู้ที่อาสาเป็นตัวแทน อย่ากลัวปัญหา
หากกลัวปัญหา หนีปัญหา เท่ากับ ไม่คิดพัฒนา
“ ทุกปัญหาก่อให้เกิดการพัฒนา ”

ยส พฤกษเวช


“ รู้ต้น รู้ราก แก้ต้น แก้ราก ”

ราก เป็นส่วนที่มองไม่เห็น
รากเป็นส่วนที่ทำให้เกิดลำต้น
ต้นไม้ เรารู้สภาวะของส่วนลำต้น
เราก็รู้สภาวะของราก
หากเราจะแก้ส่วนลำต้น
ให้แก้ที่ราก ของลำต้น

แพทย์แผนไทยก็เช่นกัน
สมุฏฐาน เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น
แต่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกองธาตุ
รู้สภาวะสภาพของธาตุทั้ง ๔
เราก็รู้สภาวะสมุฏฐาน
ถ้าจะแก้สภาวะธาตุทั้ง ๔
ให้แก้ที่สมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ
“ สมุฏฐานเป็นรากแก้วแห่งโรคทั้งหลาย ”

ยส พฤกษเวช


“ ร้อนใน นอนดึก ”

การพักผ่อนที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อน เป็นการทำให้ตับสงบ คลายความร้อน

หากนอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ตับจะไม่สงบ ไม่คลายความร้อน
นานวันเข้า จะเกิดสภาวะความร้อนสะสม จนมีอาการร้อนในเป็นประจำ
เกิดลมละอองเพลิง ความร้อนลอยขึ้นเบื้องบน
นอนไม่หลับ หลับก็หลับไม่สนิท ฝันวุ่นวาย
ตอนเช้ามักมีอาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะ นานเข้าเป็นไซนัสได้ง่าย
มักท้องผูก เกิดสิวได้ง่าย

หากไม่แก้ไข จะเกิดสภาวะเสมหะแห้ง โลหิตแห้ง
ไขกระดูกแห้ง กระดูกเสื่อม สมองเสื่อม ตามมา

ยส พฤกษเวช


“ ดับไฟ ก่อนเข้านอน ”

“ ไฟอารมณ์ ” ทำให้เราไม่เป็นสุข
มีแต่ความเร่าร้อน ตื่นก็ทุกข์ หลับก็ทุกข์
ไฟอารมณ์ เกิดจาก ความโลภ โกรธ หลง
อิจฉา อาฆาต พยาบาท วิตกกังวล ความกลัว

ไฟอารมณ์ ดับได้โดย การปล่อยวาง
การให้อภัย อโหสิกรรม การแผ่เมตตา
เจริญพรหมวิหาร ๔
ไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตา ก่อนนอนทุกวันนะครับ
“ คืนนี้ก่อนนอนอย่าลืมดับไฟ นะครับ ”

ยส พฤกษเวช


“ อิสระ ”

“ อิสระ ” ในที่นี้หมายถึง ความไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
หรือของอารมณ์
ไม่ใช่อิสระ ในการพูด คิด หรือ กระทำอะไรก็ได้ ตามใจ
คนที่ใช้อิสระในการพูด คิด หรือกระทำอะไรก็ได้ตามใจ
แบบนี้ มักก่อทุกข์
คนที่มีอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ของอารมณ์
แบบนี้ จะไม่มีทุกข์เลย

ยส พฤกษเวช


“ ความเชื่อ กับ วิทยาศาสตร์ ”

ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกประเทศในโลก
มีความเชื่อในสิ่งลี้ลับ เวทมนต์ คาถา
แต่การพัฒนา ต้องใช้วิทยาศาสตร์
ไม่ใช่ ใช้ความเชื่อ เวทมนต์ คาถา

การพัฒนาแพทย์แผนไทยก็เช่นกัน
ต้องใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์
ต้องรู้เหตุ รู้ผล ไม่ใช่ความเชื่อ
ความเชื่อที่จริงก็มี ไม่จริงก็มาก
ความเชื่อที่เป็นจริง ต้องอธิบาย
ในแนวทางของวิทยาศาสตร์ได้
มิใช่หยุดอยู่ที่ความเชื่อเท่านั้น

ยส พฤกษเวช


“ ประยุกต์ พัฒนา ”

การประยุกต์ พัฒนา สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
สำคัญต้องมีความรู้ ความเข้าใจ
ในสิ่งนั้นอย่างท่องแท้

การประยุกต์ พัฒนา แพทย์แผนไทยก็เช่นกัน
ต้องมีความรู้ ความเข้าใจอย่างท่องแท้เสียก่อน
ในอดีตมีกลุ่มบุคคลแผนปัจจุบัน
คิดประยุกต์ พัฒนา แพทย์แผนไทย
แต่หาความรู้ ความเข้าใจอย่างท่องแท้ไม่ได้
แต่เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อถือ ดูดี
กลุ่มดังกล่าวนำแพทย์แผนไทย ผนวก เข้ากับแผนปัจจุบัน
เพียงเพื่อคำว่าประยุกต์ พัฒนา
ประยุกต์ พัฒนา จำเป็นต้องมีในทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่การประยุกต์ พัฒนา โดยคิดเอาน้ำไปรวมกับน้ำมัน
เป็นการไม่ฉลาด ไม่มีประโยชน์

แพทย์แผนไทย ก็มีหลักคิดแบบแผนไทย
แพทย์แผนปัจจุบัน ก็มีหลักคิดแบบแผนปัจจุบัน
ถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปการเรียน การสอนแพทย์แผนไทย
เพื่อให้เป็นหมอไทย โดยหมอไทย เพื่อสังคมไทย
การเรียน การสอน ต้องฝึกให้คิดแบบหมอไทย
ไม่ใช่ใช้หลักคิดแบบแผนปัจจุบัน แต่ใช้ยาไทย
ใช้หลักคิดวิจัยแบบแผนปัจจุบัน มาวิจัยแผนไทย

แพทย์แผนไทย ต้องประยุกต์ พัฒนา ด้วยหลักคิดแบบแผนไทย
ไม่ใช่หลักคิดตามแผนปัจจุบัน
หากแพทย์แผนปัจจุบัน สมบูรณ์แล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องมีแพทย์ทางเลือก
มีแพทย์ทางเลือก เพราะแผนปัจจุบันถึงทางตันแล้ว
แล้วเราจะเอาแพทย์แผนไทย ไปประยุกต์ พัฒนา เข้ากับแพทย์ทางตันทำไม

ยส พฤกษเวช


“ รู้ว่ายาอย่างใด จะควรแก้โรคชนิดใด ”

“ รู้ว่ายาอย่างใด จะควรแก้โรคชนิดใด ” เป็น ๑ ใน กิจ ๔ ประการ
ของเวชศึกษา หมวดที่ ๔

ในหลักการแพทย์แผนไทย เราจะรู้ว่า “ รู้ว่ายาอย่างใด จะควรแก้โรคชนิดใด ”
เราต้องทำการตรวจ วินิจฉัย ซักประวัติ คนไข้ เสียก่อน
จึงจะพิจารณาได้ว่า จะวางยา หรือใช้ยาใดแก้โรคให้คนไข้
และที่สำคัญ การตรวจ วินิจฉัย ซักประวัติ ต้องเป็นแบบแผนไทย
ไม่ใช่ตรวจแบบแผนปัจจุบัน แล้วจ่ายยาแผนไทย

มีคนไข้ และนักศึกษาแพทย์แผนไทยหลายคน มาปรึกษาการใช้ยา
มักถามว่า “ เป็นโรคนั้น โรคนี้ จะใช้ยาอะไรรักษา ”
กระผมตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ตรวจ วินิจฉัย ซักประวัติคนไข้

ดังนั้น ก่อนจ่ายยา วางยาคนไข้ จึงควรตรวจ วินิจฉัย ซักประวัติ
คนไข้ให้ชัดเจน ให้ละเอียด ด้วยหลักการแพทย์แผนไทย ทุกครั้งเสียก่อน
อีกอย่าง ยาไทย ไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นยาแก้โรค

ยส พฤกษเวช


“ อุทริยัง ”

“ อุทริยัง ” ( อาหารใหม่ ) เป็นสารอาหาร
สารจำเป็นแก่ชีวิต เป็นตัวสร้างพลังชีวิต ( ปิตตะ วาตะ เสมหะ )
ให้แก่ร่างกาย หรือ ธาตุทั้ง ๔

อุทริยัง แรกเริ่มเราได้รับจากมารดาเมื่อยังอยู่ในครรภ์
และจากน้ำนมมารดา เป็นต้นทุนเมื่อแรกเกิด สร้างภูมิคุ้มกัน
อุทริยังเมื่อแรกเริ่ม มีอิทธิพลต่อเด็กจนถึงอายุ ๕ - ๖ ขวบ

เมื่อพ้นวัย ๕ - ๖ ขวบ อุทริยังที่สำคัญ จะมาจากภายนอก
จากอาหาร สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
สร้างพลัง ชีวิต ( ปิตตะ วาตะ เสมหะ ) ให้แก่เราสืบไป
( เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ )

ยส พฤกษเวช


“ หวานเป็นลม ขมเป็นยา ”

หวานเป็นลม หมายถึง ความหวานก่อโรค
( บางครั้งเราใช้คำว่า ลม แทนคำว่าโรค )
ขมเป็นยา ในที่นี้หมายถึง โรคที่เกิดจากความหวาน
ต้องใช้ยาที่มีรส ขม
หวานเป็นลม ขมเป็นยา จึงเป็นการ
บอกถึงลักษณะของโรค และ ยารักษาโรค

ยส พฤกษเวช


“ อาการโรค ในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ”

อาการโรคที่บรรยายในคัมภีร์แพทย์แผนไทย
เป็นอาการของสภาวะพลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ
กระทำโทษในกองธาตุทั้ง ๔
ไม่ใช่บรรยายตามกลไกของการทำงานผิดปกติ
ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ดังนั้นการเชื่อมโยงอาการโรคในคัมภีร์
กับอาการโรคในแผนปัจจุบัน
บางครั้งจึงไม่สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ รวมตลอดถึงการใช้ยาแก้อาการโรคด้วย

ยส พฤกษเวช


“ แก้วที่เต็มแล้ว ”

เราจะเติมน้ำลงในแก้วที่เต็มแล้วไม่ได้ ฉันใด
เราจะเติมความรู้แพทย์แผนไทย
ลงในจิตสำนึกของผู้อื่นไม่ได้ฉันนั้น
หากจิตสำนึกของเขา เต็มเปี่ยมไปด้วย อคติ อวิชชา

ยส พฤกษเวช


“ ธรรมชาติ ยาไทย ”

ยาไทย ไม่ใช่ยารักษาโรค
ยาไทย คือ ยาที่เข้าไปปรับ เข้าไปแก้อาการ
สภาวะสมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ
ที่กระทำโทษ ในกองธาตุทั้ง ๔

หากใช้ยาไทย ต้องวินิจฉัยแบบหมอไทย
หากวินิจฉัยแบบแผนปัจจุบัน ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน
อาการโรค ยาแก้อาการโรค ในคัมภีร์แผนไทย
บอกถึงภาวะผิดปกติของสมุฏฐาน ในกองธาตุ ทั้ง ๔
ไม่ใช่บอกภาวะผิดปกติของการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ไม่ใช่บอกถึงภาวะผิดปกติของชีวเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย

เรียนแพทย์แผนไทย ต้องฝึกคิดแบบหมอไทย
ไม่ใช่เรียนแผนไทย แต่ไปฝึกคิดแบบแผนปัจจุบัน
ยาไทยสนองต่อหลักคิดแบบไทย ไม่ใช่แผนปัจจุบัน

ยส พฤกษเวช


“ มีไข้ห้ามนวด ”

“ มีไข้ห้ามนวด ” เป็นข้อห้ามที่กล่าวไว้ในเอกสาร
การเรียนการสอนวิชานวดแผนไทย สมัยใหม่
การนวดไทยเป็นการนวดบำบัดโรคอย่างหนึ่ง
การมีไข้ ถือว่ามีภาวะเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง
แล้วทำไมจึงมีการห้ามนวดในกรณีมีไข้

การนวดกระตุ้นปิตตะ ทำให้เกิดมี ไข้ ได้
การนวดระบายพิษปิตตะ เพื่อลด ไข้ น่าจะทำได้
ตำรานวดวัดโพธิ์ ตำรานวดเก่า ๆ ก็ไม่เคยกล่าวห้าม
ขอคำแนะนำ ผู้ที่มีความรู้ ชำนาญเรื่องนวดบำบัดโรคด้วยครับ

ยส พฤกษเวช


“ ยาหอมไทย สุดยอดภูมิปัญญาไทย ”

อดีต ครอบครัวไทยต้องมียาหอมประจำบ้าน
ยาหอมไทย รับใช้สังคมมาช้านาน
ยาหอมไทย ใช้เพื่อการปรับธาตุ บำรุงสมอง
บำรุงหัวใจ เจริญอาหาร คุมธาตุ บำรุงธาตุ
กระตุ้นการไหลเวียน
ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้ผู้สูงอายุ

ยาหอมไทย ยาไทย มีชาติเดียวในโลก
ถึงเวลาแล้วที่แพทย์แผนไทย ควรส่งเสริม
ให้ยาหอมไทย กลับมารับใช้สังคมอีกครั้ง
สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ยาหอมไทยน่าจะกลับมารับใช้ สังคม อีกครั้ง

ยาหอมไทย ทำให้ประสาทรับรู้ดีขึ้น
รักษาสัญญา จำได้หมายรู้ ให้สมบูรณ์
รักษาสภาวะปกติของธาตุทั้ง ๔
ไม่ให้เสื่อมเร็วกว่าปกติ

ยาหอมไทย จึงเป็นยอดยาปรับธาตุ
ป้องกัน และ รักษาสภาวะสมองเสื่อม
อีกทั้งป้องกันธาตุทั้ง ๔ เสื่อมก่อนอายุขัย
ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งได้ ในอนาคต
“ ยาหอมไทย ยาไทย ประจำบ้าน ”

ยส พฤกษเวช


“ กล่องดำเก่าคร่ำคร่าใบหนึ่ง ”

ศิษย์ : อาจารย์ครับอาวุธอะไรที่ร้ายกาจที่สุด ในยุทธจักร
มีดบินของลี้คิมฮวง ใช่ไหมครับ
อาจารย์ : ไม่ใช่
ศิษย์ : กระบี่หยดน้ำตา ใช่ไหมครับ
อาจารย์ : ไม่ใช่
ศิษย์ : แล้วอะไร เป็นอาวุธที่ร้ายกาจที่สุด
อาจารย์ : กล่องดำเก่าคร่ำคร่าใบหนึ่ง
ศิษย์ : ร้ายกาจอย่างไรครับ
อาจารย์ : ภายในกล่องดำมีเศษเหล็ก รูปร่างแปลก ๆ หลายอัน
ความร้ายกาจอยู่ที่ เมื่อนำเศษเหล็กรูปร่างแปลก ๆ มาต่อกัน
มันจะกลายเป็นอาวุธที่ทรงอนุภาพ ไร้ผู้ต่อต้าน
กล่องดำที่ร้ายกาจ คนที่ถือกล่องดำนั้นยิ่งร้ายกาจกว่า
นิ้วมือที่เรียวงาม คล่องแคล่ว ปัญญาอันเฉียบคม
ในการนำเศษเหล็กรูปร่างแปลก ๆ มาต่อกันเป็นอาวุธ
สยบคู่ต่อสู้
คำสนทนาระหว่างศิษย์ อาจารย์ ในนิยายจีนกำลังภายในเรื่องหนึ่ง
ผมมักยกขึ้นมา กล่าวเสมอ เมื่อผมไปสอนวิชาแพทย์แผนไทย
เพราะผมปรารถนา ให้แพทย์แผนไทย เป็นผู้ถือ “ กล่องดำเก่าคร่ำคร่า ”
กระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน

ยส พฤกษเวช


“ สถาบันการแพทย์แผนไทย ( ภาคเอกชน ) ”

ประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย ที่ผ่านมา
ชี้ให้เห็นว่า แพทย์แผนไทยดำรงอยู่ได้
ตราบทุกวันนี้ เพราะภาคเอกชน
ที่รักษ์ ชื่นชม และหวงแหน วิชาแพทย์แผนไทย

ประวัติศาสตร์ยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงปัญหา
และอุปสรรค ที่สำคัญต่อการพัฒนาแพทย์แผนไทย คือ ภาครัฐ
ภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแพทย์แผนไทยอย่างแท้จริง
ไม่มีความจริงใจ กลับกัน ยังคอยควบคุม กำกับ ดูแล
ด้วยกฎระเบียบมากมาย ที่ออกมามีผลต่อกิจกรรมแพทย์แผนไทย

หากแพทย์แผนไทย ยังคงหยุดนิ่ง หรือล่มสลายไป
บุคลากรภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวกับแพทย์แผนไทย คงไม่เดือดร้อน
ยังคงมีหน้าที่ เงินเดือนตามปกติ
แต่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย
คงอยู่ไม่ได้ ย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน

ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย
จะนิ่งเฉย เป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้แล้ว
จึงขอเสนอแนะให้มีการรวมกลุ่มจุดตั้ง

“ สถาบันการแพทย์แผนไทย ( ภาคเอกชน ) ”
เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมแพทย์แผนไทย ให้ก้าวหน้า
เพราะเราไม่สามารถฝากอนาคตไว้กับภาครัฐต่อไปได้
ปัญหาสำคัญที่ภาคเอกชนแพทย์แผนไทยรวมกันไม่ได้
เพราะยังขาดผู้นำที่มีความพร้อม และอีกอย่างหนึ่งคือ
ยังคงมีพฤติกรรม “ ไก่จิกกัน ”
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็น
หนทางที่เป็นจริงยังคงมืดมน ยังมองไม่เห็น

ยส พฤกษเวช


" การพัฒนาแพทย์แผนไทยให้เจริญก้าวหน้า "

เพียงเราทำหน้าที่ในสายอาชีพของตน
ด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ หมั่นศึกษา
หาความรู้ รักและสามัคคีกัน
เพียงเท่านี้ ก็เป็นการพัฒนาแพทย์แผนไทยแล้ว
เพียงเริ่มต้นทำแค่นี้เราก็จะได้รับการยอมรับแล้ว
โดยไม่ต้องคิดไปแข่งขันกับใคร คิดไปเทียบกับใคร

ยส พฤกษเวช


“ ระวังสเตียรอยด์ ในยาสมุนไพร ”

“ ระวังสเตียรอยด์ ในยาสมุนไพร ” เป็นคำตะโกนร้องของ
สมุนมหาโจรบริษัทผลิตยาข้ามชาติ
คนที่หาความร่ำรวยกับความเจ็บป่วยของคนไข้
คนที่เรียนแผนปัจจุบัน จบมาเป็นเซลล์ขายยาให้บริษัทยาข้ามชาติ

คนที่เรียนแผนปัจจุบัน จบมาทำยารักษาคนไข้ไม่เป็น
คนที่เหยียดหยามภูมิปัญญาบรรพบุรุษ
ยกย่องภูมิปัญญามหาโจรบริษัทยาข้ามชาติ
ไทย เป็นประเทศเดียวในโลกกระมัง
ที่มักเรียกร้องให้ผู้อื่นทำความดี
แต่ตนเองทำความชั่วเสียเอง

ยส พฤกษเวช


“ เหตุผล การให้ ”

“ เหตุผล ” มักเป็นสิ่งที่หลายคนร้องขอ
เหตุผล ไม่ทำให้สังคมอยู่รวมกันได้
แต่จะทำให้เกิดการแตกแยกมากกว่า

“ การให้ ” มักเป็นสิ่งที่หลายคนปฏิเสธ
การให้ ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้
ให้ความรัก ให้เกียรติ ให้อภัย
สังคมอยู่ได้ด้วย การให้ ไม่ใช่ เหตุผล

ยส พฤกษเวช


“ ปฏิรูปแพทย์แผนไทย ต้องคิดแบบแผนไทย ”

การพัฒนา ปฏิรูป สิ่งใด เราต้องเข้าใจหลักคิดสิ่งนั้นเสียก่อน
เพื่อกำหนดแนวทาง การปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับสิ่งนั้น

การปฏิรูปแพทย์แผนไทย มักติดขัด มีอุปสรรค์
เพราะไม่สอดคล้องกับหลักคิดแบบแพทย์แผนไทย
แพทย์แผนตะวันตก มักเป็นผู้นำในการปฏิรูปแผนไทย
โดยนำหลักคิดแผนตะวันตก มาเป็นแนวทางปฏิรูปแผนไทย
แล้วเมื่อไร แพทย์แผนตะวันตก จะเข้าใจหลักคิดแพทย์แผนไทย ?
“ ปฏิรูปแพทย์แผนไทย ต้องคิดแบบแผนไทย ”

ยส พฤกษเวช


“ เพชร ตัด เพชร ”

เพชร ย่อมถูกตัดด้วย เพชร ฉันใด
อำนาจ ปิตตะ วาตะ เสมหะ ที่ก่อโรค
ย่อมใช้อำนาจ ปิตตะ วาตะ เสมหะ
บำบัด ฉันนั้น

ยส พฤกษเวช


“ การปรับธาตุ ”

“ ธาตุ ” ณ ที่นี้ขอให้ความหมายว่า “ สภาวะสภาพ ”
“ การปรับธาตุ ” ก็คือ “ การปรับสภาวะสภาพร่างกาย ”

วัตถุประสงค์
เพื่อการทำให้สภาพร่างกายของเรา หรือ
การทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
ให้กลับมาทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ หรือ
จะเรียกว่า เป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกาย
อวัยวะที่ทำงานหย่อนประสิทธิภาพลง
ให้กลับมาทำหน้าที่ ให้เป็นปกติเท่าที่จะทำได้ครับ

วิธีการปรับธาตุทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์มีดังนี้

๑. ขับล้างของเสียหรือพิษที่คั่งค้างอยู่ภายในออก

๒. ให้ยาหรืออาหารบำรุงร่างกายหรือ
กระตุ้น ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุทั้ง ๔
เช่น ยาปรับธาตุ ยาบำรุงธาตุ ยาบำรุงร่างกาย เป็นต้น

๓. หมั่นออกกำลังกาย กายบริหาร
เพื่อกระตุ้นการไหลเวียน การขับของเสียและ
เป็นการปรับสมดุลของสมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ

๔. กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
กินอาหารให้พออิ่ม ไม่เกินอิ่ม ตรงเวลา
กินอาหารให้มีรสอาหารที่หลากหลาย ครบรส

๕. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ
ที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย
เช่น นอนดึก กินเที่ยว หมกมุ่นอยู่กับอบายมุขต่าง ๆ
เสพสิ่งเสพติดต่าง ๆ เช่น บุหรี่ สุรา ยาเสพติด อื่น ๆ เป็นต้น

๖. ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้เป็นกลาง ๆ
ไม่เครียดหรือวิตกจนมากเกินไป
เรียนรู้การปล่อยวาง การให้อภัย ไม่อาฆาต
พยาบาท ไม่อิจฉา ริษยา ผู้อื่น เป็นต้น

๗. ให้อยู่ในที่ที่อากาศสะอาดบริสุทธิ์
ไม่ร้อนไปหรือเย็นไป
เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องปรับอากาศเย็น ๆ นาน ๆ
ให้อยู่ในที่อากาศโปรดโปร่งสบาย ๆ มีแสงแดดอ่อน ๆ
ควรถูกแสงแดดอ่อน ๆ ทุกวัน เป็นต้น

๘. อย่าปล่อยให้ท้องผูก ควรขับถ่ายให้ได้วันละ ๒ ครั้งจะดี
ถ้าไม่ได้อย่างน้อยวันละ ๑ ครั้งก็ได้ ให้ได้ทุกวัน
ถ้าไม่ได้ต้องพบแพทย์หาทางแก้ไข อย่าปล่อยเรื้อรัง

๙. ควรใช้ชีวิตที่อยู่ในอิริยาบถ นั่ง เดิน ยืน นอน ให้เสมอภาคกัน
ให้หลีกเลี่ยงอิริยาบถ นั่ง นิ่ง เนินนาน

๑๐. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก
แต่ให้ตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อขับถ่ายของเสีย
ไปออกกำลังกาย กายบริหาร

“ การปรับธาตุ ”
ใช้ได้ดีทั้งในกรณีป่วย และ กรณีมีอาการก่อนป่วย
ที่สำคัญต้องให้หมอ ได้ทำการตรวจ วินิจฉัย เสียก่อน
มิใช่เพียง ตรวจดู วัน เดือน ปี เกิด เท่านั้น

ยส พฤกษเวช


“ ขยับกาย คลายโรค ”

การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหว
เป็นการปรับสมดุล ปิตตะ วาตะ เสมหะ
ในร่างกาย ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ
ต้องหมั่นเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย

อย่าอยู่ในภาวะ “ นิ่ง เนิ่น นาน ”
ไม่ว่าจะ นั่ง เดิน ยืน นอน
โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ต้องหมั่น
เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย ไว้เสมอ
อย่าอยู่ในภาวะ “ นิ่ง เนิ่น นาน ”

ยส พฤกษเวช


“ เพราะพ่อรักหนู พ่อจึงมาหาหมอ ”

“ เพราะพ่อรักหนู พ่อจึงมาหาหมอ ” เป็นคำกล่าวของคนไข้
ที่กล่าวกับลูกสาววัย ๔ ขวบ คนไข้อายุ ๕๘ ปี
คนไข้มีหลายโรครุมเร้า รักษาแผนปัจจุบันไม่หาย
จึงตัดสินใจมารักษาแผนไทย เพราะกลัว.....
ในขณะที่มีลูกยังเล็กช่วยตัวเองยังไม่ได้

คนไข้มารักษากับหมอไทย
ขณะที่ต้นทุนเหลือน้อยเต็มที
คนไข้มักจะมาหาหมอไทย
ในภาวะที่เป็นทางเลือกสุดท้าย
อย่างไรก็ตามคนเป็นหมอก็ต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
หมอไม่ว่าแผนไหน ก็เป็นที่พึ่ง ที่หวัง ของคนไข้เสมอ

ยส พฤกษเวช


“ ข้อควรระวัง ใช้ยาถ่ายมากเกินไป ”

ใช้ยาถ่ายมากเกินไป ทำให้พลัง
ปิตตะ วาตะ เสมหะ ภายในถูกทำลาย
ร่างกายเกิดภาวะพร่องหรือหย่อน
เกิดภาวะเย็น อวัยวะภายในทำงาน
ด้อยลง ร่างกายขาดสารอาหาร
อ่อนแอ ทรุดโทรมลง
กลัวหนาว แขนขาเย็น อยากนอน
ชีพจร อ่อน เบา – เล็ก

การรักษา ต้องปรับธาตุ ฟื้นฟูพลัง
ของปิตตะ วาตะ เสมหะ

ยส พฤกษเวช


“ คล้าย ”

สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด
คล้าย ดังมีความบกพร่องอยู่
แต่คุณประโยชน์ของมันไม่มีที่สิ้นสุด
สิ่งที่เต็มเปี่ยมที่สุด
คล้าย ดังมีความว่างเปล่าอยู่

แต่คุณประโยชน์ของมันไม่มีที่สิ้นสุด
ที่ตรงที่สุด คล้าย ดังคดงอ
ที่ชาญฉลาดที่สุด คล้าย ดังโง่เขลา
มันเป็น....วิถีแห่งเต๋า

ยส พฤกษเวช


“ การพึ่งพา ”

การพึ่งพา คือภาวะ “ การพึ่งตนเองไม่ได้ “
ประเทศไทย อยู่ในภาวะพึ่งตนเองไม่ได้
ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม
ปลูกข้าว ยังต้องพึ่ง ปุ๋ยจากต่างประเทศ

แพทย์แผนปัจจุบัน เราพึ่ง ปัญญาต่างชาติ
มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นภาระของชาติอย่างมาก
คนในชาติต้องแบกภาระ “ ซื้อปัญญาต่างชาติ “

แพทย์แผนไทย แพทย์พึ่งตนเอง ไม่พึ่งพา
พึ่งปัญญาตนเอง ไม่พึ่งปัญญาต่างชาติ
รู้ รักษ์ ภุมิปัญญา รู้ รักษ์ สมบัติของแผ่นดิน
เกิดเป็นคนไทยต้องรู้ รักษ์ แพทย์แผนไทย

ยส พฤกษเวช


“ ภูมิแพ้ ”

“ พิษ ” เมื่อไม่ถูกขับหรือขับไม่หมด
ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย และไหลเวียน
ไปตามกระแสโลหิตและน้ำเหลือง
จะมีผลกระทบต่อคุณภาพของเลือด
น้ำเหลืองและอวัยวะต่าง ๆ
ที่เลือดและน้ำเหลืองไหลผ่าน
ตั้งแต่ สมอง หัวใจ ปอด ตับ ไต
ไขกระดูก ระบบน้ำเหลือง เป็นต้น

จึงส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย
ไวต่อสิ่งที่มากระทบ
เป็นภาวะเรียกว่า “ ภูมิแพ้ ”

หากดูแลสุขภาพไม่ดีก็มีภาวะเสี่ยง
มีโรคร้ายตามมา เช่น มะเร็ง
ซึ่งยากต่อการรักษา

คนทุกคนได้รับพิษตลอด ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสิ้นอายุ
“ พุทธศาสนา สอนไว้ คนทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายทุกคน
แพทย์แผนไทย สอนไว้ คนทุกคนมีภาวะภูมิแพ้ทุกคน ”

ยส พฤกษเวช


“ แพทย์แผนไทย ร่วมสมัย ”

แพทย์แผนไทยมีการผนวกความรู้
ทางพุทธศาสตร์ ความรู้ทางโหราศาสตร์
ผ่านทางพระคัมภีร์แพทย์

ปัจจุบันนำความรู้แผนปัจจุบันเข้ามา
เป็นสิ่งดีหากนำมาซึ่งการพัฒนา
เหมาะสมยุคสมัย
แต่ต้องไม่ลืมหลักคิด แก่นแท้องค์ความรู้
เพราะท้ายสุดต้องจัดยา ให้สอดคล้องกับ การตรวจ

การวินิจฉัย ที่ตรงกับหลักคิดทางแพทย์แผนไทย
มิใช่ตรวจ วินิจฉัย แบบแผนปัจจุบัน แต่จ่ายยาแผนไทย
หากเป็นแบบนี้ จะเป็นการทำลายแพทย์แผนไทย
ผลเสียจะตกแก่ผู้ป่วย ต่อตัวหมอเอง
สุดท้ายต่อการแพทย์แผนไทย
“ เรากำลังลืม หรือ ไม่เคยรู้หลักคิดแบบแพทย์แผนไทย ”

ยส พฤกษเวช


“ สร้างพระเจดีย์จากยอด ”

การพัฒนา การสร้างสรรค์
การเริ่มต้น ต้องเริ่มจากฐานราก
ไม่ใช่เริ่มต้นจากยอด

หลายหน่วยงาน หลายกลุ่มบุคคล
มีความคิดที่จะพัฒนา สร้างสรรค์ แพทย์แผนไทย
อยากต่อยอดร่วมกับแพทย์ทางเลือกอื่น
อยากต่อยอดร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน

หลายกลุ่มคิดแต่จะต่อยอดความรู้
แต่ทุกกลุ่มยังขาดความรู้ความเข้าใจ
ยังไม่เข้าใจหลักคิดพื้นฐาน แพทย์แผนไทย
ความคิดที่จะสร้างพระเจดีย์จากยอด
เป็นได้เพียงเพ้อฝัน สร้างกระแสเท่านั้น
เรามาสร้างพระเจดีย์จากรากฐานกันดีกว่าครับ

ยส พฤกษเวช


“ โรคหัวใจ หลอดเลือด ”

“ โรคหัวใจ หลอดเลือด ” เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตาย
อยู่ในระดับต้น ๆ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของประชากรโลก

สาเหตุ มักเกิดจากพฤติกรรมการกิน การอยู่ ไม่ถูกต้อง
จากโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่
โรคเบาหวาน ความอ้วน ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย
วัยสูงอายุ กรรมพันธุ์

อาการแสดงออก ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก เวียนศีรษะ
อาการเจ็บหน้าอก มักเป็นตรงกลางหน้าอก
เยื้องลงมาทางลิ้นปี่เล็กน้อย
ลักษณะเจ็บ มักจุก ๆ แน่น ๆ อึดอัด

บางทีร้าวไปถึงคอหอย ไหล่ซ้าย ข้อศอก
หรือท้องแขนซ้าย หรือกราม หรือคอด้านซ้าย
บางรายมีอาการใจหวิว ใจสั่น ชีพจรเร็วกว่าปกติ
หรือช้ากว่าปกติ เหงื่อซึม เป็นลม หน้ามืด หมดสติ

ลักษณะอาการเจ็บที่อันตรายที่สำคัญ
คือ อาการเจ็บแน่น
เจ็บแน่น ที่หน้าอกร้าวไปถึงหลังแบบเฉียบพลัน
เจ็บแน่น บริเวณช่องท้องร้าวไปถึงหลังแบบเฉียบพลัน
เจ็บแน่น หน้าอก หรือ ช่องท้อง ร่วมกับวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด

การป้องกันโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด เริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

แนวทางรักษา และป้องกัน แบบแพทย์แผนไทย

๑. ต้องหาเหตุพฤติกรรมก่อที่ก่อโรคแล้ว เลิกให้ได้
๒. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ดังนี้

อาหาร
ให้งดอาหารหวาน ไขมันสูง
ให้กินผักพื้นบ้าน กินปลา ประจำ
กินพออิ่ม ไม่เกินอิ่ม ไม่กินหลัง ๖ โมงเย็น
กินกระเทียมไทยสด ครั้งละ ๓ - ๔ กลีบ
ร่วมกับอาหารเช้า ทุกวัน ไม่ควรดื่มน้ำเย็น ไอศกรีม ควรงด
งดอาหารเย็นได้ยิ่งดี

ออกกำลังกาย
ให้ออกกำลังกาย กายบริหาร ถูกแสงแดดอ่อน ๆ เช้าครั้ง เย็นหน
เดินแกว่งแขน ร่วมด้วยประจำ

อารมณ์
ควบคุมอารมณ์ เป็นกลาง ๆ ไม่เครียด วิตกกังวล
ฝึกทำอารมณ์ ให้แจ่มใส

อิริยาบถ
หลีกเลี่ยงอิริยาบถ นั่ง นิ่ง เนินนาน
หมั่นขยับร่างกาย เคลื่อนไหวอยู่เสมอ ๆ

การพักผ่อน
อย่านอนดึก ให้นอนหัวค่ำ ตื่นนอนเช้า ๆ ไม่ตื่นสาย
แล้วลุกไปออกกำลังกาย

การขับถ่าย
ดูแลเรื่องการขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ ให้เป็นปกติ
หากมีปัญหา ไปปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาให้ปกติ

แนะนำยาไทย
หากต้องการกินยาไทยร่วมด้วย
ขอแนะนำ กินยาหอมชนะลม ครั้งละ ครึ่งช้อนชา
ก่อนอาหารเช้า ก่อนนอน หรือมื้อเช้ามื้อเดียวก็ได้
ใช้ตำรับยาลดไขมันของยาไทยก็มีหลายตำรับ
เลือกใช้ได้ตามต้องการ แต่ควรปรึกษาหมอก่อนใช้นะครับ

ยส พฤกษเวช


“ สมุฏฐาน ”

“ สมุฏฐาน ” หมายถึง “ เหตุที่ทำให้เกิด ”
มีสภาวะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน ดับไป

สมุฏฐานมีความหมาย ๒ นัย คือ
ทางพุทธศาสตร์ และทางแพทย์ศาสตร์

“ พุทธศาสตร์ ” หมายถึง เหตุที่ทำให้เกิดรูป
มี ๔ ประการ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร

“ แพทย์ศาสตร์ ” หมายถึง เหตุที่ทำให้เกิด
ตั้งอยู่ แปรปรวน ป่วย ดับไป ของธาตุทั้ง ๔

มี ๓ ประการ คือ ปิตตะ วาตะ เสมหะ

เป็นเหตุที่ทำให้เกิด กองธาตุทั้ง ๔
เป็นเหตุที่ทำให้ธาตุทั้ง ๔ ตั้งอยู่
เป็นเหตุที่ทำให้ธาตุทั้ง ๔ แปรปรวน
เป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย
เป็นเหตุที่ทำให้ธาตุทั้ง ๔ ดับไป

สมุฏฐาน เป็นนามธรรม รู้ได้ด้วยใจ
รู้ได้ด้วย ปัญญา พิจารณา ตามเหตุ ผล
มิใช่รู้ได้ด้วยการพิสูจน์ ในห้องปฏิบัติการ

หมอไทย รู้สภาวะสมุฏฐาน จากการพิจารณา
อาการโรค รอยโรค ในกองธาตุทั้ง ๔
ธรรมชาติของสมุฏฐาน มีความดิ้นรนไป
กวัดแกว่งไปตามเหตุปัจจัย ตามสิ่งเร้า
ไม่มั่นคง

ห้ามยาก คือยากจะบังคับ ให้หยุด
รักษายาก คือ ทำให้อยู่นิ่งตามปรารถนาได้ยาก

ยส พฤกษเวช


“ ร้อน เย็น ”

“ รูป เป็นธรรมชาติที่แตกดับย่อยยับ
ผันแปรไปด้วยอำนาจของความร้อน ความเย็น ”

จากข้อความดังกล่าวทำให้เราเข้าใจได้ว่า
รูปหรือ มหาภูตรูป ๔ จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ด้วยอำนาจของความร้อน ความเย็น

ร้อน เย็น เป็นหนึ่งในองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย
ผู้เป็นหมอไทย ต้องเข้าใจ หลัก ร้อน เย็น
และนำมาใช้ร่วมในการตรวจ วินิจฉัยโรค
จ่ายยา นวดรักษา พยากรณ์โรค ให้คำแนะนำ

ยส พฤกษเวช


“ ธรรมชาติของ ความจริง ”

ธรรมชาติของความจริงในโลกนี้มีอยู่ ๒ ระดับ คือ
๑. ความจริงระดับสมมุติ
๒. ความจริงระดับปรมัตถ์

๑. ความจริงระดับสมมุติ
เป็นความจริงที่บัญญัติขึ้นโดยอาศัย
เนื้อความ รูปร่าง และภาษาชื่อเรียก
เป็นความจริงที่ต้องขึ้นกับการอ้างอิง
และเปรียบเทียบ ซึ่งเข้าใจกัน
เฉพาะในกลุ่มชนที่ใช้ภาษา วัฒนธรรมเดียวกันเท่านั้น

๒. ความจริงระดับปรมัตถ์ ( ความจริงที่เป็นสภาวธรรม )
เป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มชน
สถานที่ หรือยุคสมัย รู้ได้ด้วยใจ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง
เป็นไปเองตามธรรมดา ไม่ใช่คน สัตว์ สิ่งของ
ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง เกิดได้เพราะมีเหตุปัจจัย
และเมื่อหมดเหตุปัจจัย สิ่งเหล่านั้นก็ดับไป
ไม่มีใครเป็นเจ้าของสภาพนั้น เป็นแต่สภาพของธรรมชาติ

หมอไทย ต้องทำความเข้าใจ “ ธรรมชาติของความจริง ”
เพื่อพิจารณาธรรมชาติ พิจารณาเนื้อหาคัมภีร์ พิจารณาโรค พิจารณาไข้

ยส พฤกษเวช


“ ตรีธาตุ หรือ ธาตุ ๓ ( นาม ) ธาตุ ๔ ( รูป ) ”

“ ตรีธาตุ ” ประกอบด้วย ปิตตะ วาตะ เสมหะ
เป็นคำเรียกทางอายุรเวท

แพทย์แผนไทยเรียกสมุฏฐาน หรือกองสมุฏฐาน
ปิตตะ วาตะ เสมหะ มีสภาวะเป็น “ นามธาตุ ”

“ ธาตุ ๔ ” ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
เรียกกองธาตุ ๔ หรือมหาภูตรูป ๔ ก็ได้
มีสภาวะเป็น “ รูปธาตุ ”

ตรีธาตุ หรือ ธาตุ ๓ หรือ กองสมุฏฐาน มีสภาวะเป็น “ นามธาตุ ”
ธาตุ ๔ หรือ กองธาตุ ๔ หรือ มหาภูตรูป ๔ มีสภาวะเป็น “ รูปธาตุ ”

การวินิจฉัยสรรพสิ่ง แพทย์แผนไทย
พิจารณาทั้งสภาวะรูปธาตุ และ นามธาตุ ไปพร้อม ๆ กัน

ยส พฤกษเวช


“ ภาษา ”

“ พระ ” ต้องเข้าใจภาษาธรรม
“ หมอ ” ต้องเข้าใจภาษาแพทย์
“ คน ” ต้องเข้าใจภาษาคน
“ ภาษา ” เครื่องมือสื่อสาร อารยะธรรมของมนุษย์
หมอไทย ต้องเรียนรู้ภาษาแพทย์ ภาษาธรรม ภาษาคน

ยส พฤกษเวช


“ วาโยธาตุ วาตะ ”

วาโยธาตุ ( รูป ) หรือ ธาตุลม หมายถึง สภาวะสภาพคล้ายลม
วาโยธาตุ หรือ ธาตุลม เป็นธรรมชาติที่ทรงสภาวะเคร่งตึง เคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกายเกิดจากคุณสมบัติของธาตุลม

วาโยธาตุแบ่งลักษณะได้ ๒ ภาวะ คือ
๑. ภาวะ ที่มีลักษณะไหว สมมุติซื่อเรียกว่า สมุทีรณวาโย
๒. ภาวะ ที่มีลักษณะเคร่งตึง สมมุติซื่อเรียกว่า วิตถัมภนวาโย

วาโยธาตุ อาศัยธาตุที่เหลือทั้ง ๓ เป็นปัจจัย
๑. มีปถวีธาตุเป็นที่ตั้ง
๒. มีอาโปธาตุเกาะกุม
๓. มีเตโชธาตุทำให้อุ่นหรือเย็น

วาตะ ( นาม ) มีลักษณะแสดงออกถึงสภาวะต่าง ๆ ดังนี้
สภาวะการขับเคลื่อน การไหลเวียน การติดต่อ การเชื่อมโยง
วาตะ กระจายออกเป็น หทัยวาตะ สัตถกวาตะ สุมนาวาตะ

หทัยวาตะ หมายถึง สภาวะการเต้นของหัวใจ พลังการสูบฉีดของหัวใจ
สัตถกวาตะ หมายถึง สภาวะการขับเคลื่อนดุจศัสตรา
เป็นพลังการไหลเวียนของโลหิต
พลังการไหลเวียนของระบบประสาท
การไหลเวียนของระบบทางเดินอาหาร ระบบการขับถ่าย
พลังการไหลเวียนทั้งหมดทั่วร่างกาย

สุมนาวาตะ หมายถึง พลัง ( วาตะ ) ของใจ
สภาวะอารมณ์ ( พลังของใจที่สงบทำให้กายเป็นปกติ
มีพลังฟื้นฟู ซ่อมแซมตนเอง พลังของใจที่ไม่สงบ
เช่น ความเครียด วิตกกังวล อาฆาต พยาบาท มีผลทำให้กายป่วย )
วาโยธาตุ ( รูป ) ไม่ใช่วาตะ ( นาม )
วาตะ ( นาม ) ไม่ใช่วาโยธาตุ ( รูป )

ยส พฤกษเวช


“ อาโปธาตุ เสมหะ ”

อาโปธาตุ ( รูป ) หรือ ธาตุน้ำ หมายถึงสภาวะสภาพคล้ายน้ำ
อาโปธาตุ หรือธาตุน้ำ เป็นธรรมชาติที่ทรงสภาวะการเกาะกุม การไหล
ในเนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกายจะมีธาตุน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ
ทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ เกาะกุมกันได้ ไม่กระจัดกระจายไป

อาโปธาตุนี้มีจำนวนพอประมาณในวัตถุใด
ก็จะทำหน้าที่เกาะกุมอย่างเหนียวแน่น วัตถุนั้นจะแข็ง
ถ้าวัตถุใดมีอาโปธาตุมากก็จะเกาะกุมทรงอยู่ไม่เหนียวแน่นมั่นคง
จึงทำให้วัตถุนั้นอ่อนลงและเหลวมากขึ้น จนถึงกับไหลไปได้

ธาตุน้ำในที่นี้หมายถึง ธาตุน้ำที่เป็นปรมัตถ์
ซึ่งมีลักษณะไหลหรือเกาะกุม ไม่ใช่น้ำที่มองเห็น
น้ำที่ใช้ดื่มใช้กินอยู่นี้เป็นน้ำโดยสมมุติ

ธาตุน้ำนั้นจะต้องหมายถึงลักษณะที่ปรากฏรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น
ไม่สามารถรู้ได้ด้วยตาหรือจากประสาทกายสัมผัส
เพียงรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น

อาโปธาตุอาศัยธาตุที่เหลืออีก ๓ เป็นปัจจัยคือ
๑. มีปถวีธาตุเป็นที่ตั้ง
๒. มีเตโชธาตุตามรักษา
๓. มีวาโยธาตุกระพือพัด

เสมหะ ( นาม ) มีลักษณะแสดงออกถึงสภาวะต่าง ๆ ดังนี้
สภาวะขยาย ดึงดูดเกาะกุม ความเย็น ความชื้น กลางคืน ดิน
หนัก มืด ลง ขัดขวางวาตะ ดับ เป็นต้น

เสมหะ กระจายออกเป็น ศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะ
ศอเสมหะ หมายถึง สภาวะของเสมหะที่อยู่บริเวณคอขึ้นไป
อุระเสมหะ หมายถึง สภาวะของเสมหะที่อยู่บริเวณคอลงมาถึงระดับสะดือ
คูถเสมหะ หมายถึง สภาวะของเสมหะที่อยู่บริเวณระดับสะดือลงมา
ถึงทวารหนัก ทวารเบา มดลูก

อาโปธาตุ ( รูป ) ไม่ใช่เสมหะ ( นาม )
เสมหะ ( นาม ) ไม่ใช่อาโปธาตุ ( รูป )

ยส พฤกษเวช


“ เตโชธาตุ ปิตตะ ”

เตโชธาตุ ( รูป ) หรือธาตุไฟ หมายถึง สภาวะสภาพคล้ายไฟ
เตโชธาตุ หรือธาตุไฟ เป็นธรรมชาติที่ทรงสภาวะความอบอุ่น
ความร้อนความเย็น และพลังงานในการเผาผลาญอาหารในร่างกาย
และยังทำให้ร่างกายแก่ชราทรุดโทรม

เตโชธาตุมี ๒ ภาวะ คือ
๑. ภาวะร้อน ภาวะเย็น สมมุติชื่อเรียกว่า อุณหะเตโช
๒. ภาวะปกติ สมมุติชื่อเรียกว่า สีตเตโช

ดังนั้น ความปรากฏของเตโชธาตุจึงหมายถึง ไออุ่น หรือ ไอเย็น
ที่สามารถรู้ได้ด้วยประสาทกาย

เตโชธาตุ อาศัยธาตุที่เหลืออีก ๓ เป็นปัจจัย คือ
๑. มีปถวีธาตุเป็นที่ตั้ง
๒. มีอาโปธาตุเกาะกุม
๓. มีวาโยธาตุกระพือพัด

เตโชธาตุในร่างกายมี ๔ ลักษณะ คือ

๑. ลักษณะอุ่นกาย ซึ่งทำให้เราอุ่นเป็นปกติอยู่
สมมุติซื่อเรียกว่า สันตัปปัคคี

๒. ลักษณะร้อนระสำระสาย หัวใจรุ่มร้อน ขึ้งโกรธ
สมมุติซื่อเรียกว่า ปริทัยหัคคี

๓. ลักษณะเผาให้แก่คร่ำคร่า ซึ่งทำให้ร่างกายเราเหี่ยวแห้งทรุดโทรม
ทุพพลภาพไป สมมุติซื่อเรียกว่าชิรณัคคี

๔. ลักษณะย่อยอาหาร ซึ่งทำให้อาหารที่กินเข้าไปแหลกเหลว
สมมุติซื่อเรียกว่า ปริณามัคคี

ปิตตะ ( นาม ) มีลักษณะแสดงออกถึงสภาวะต่าง ๆ ดังนี้
สภาวะแพร่กระจาย ความร้อน กลางวัน เบา ฟ้า
สว่าง ขึ้น กระตุ้นวาตะ เกิด เป็นต้น
ปิตตะ กระจายออกเป็น
พัทธะปิตตะ อพัทธะปิตตะ กำเดา ( ปิตตะ )
พัทธะปิตตะ หมายถึง สภาวะปิตตะที่อยู่ภายในขอบเขต

แบ่ง ๒ ประการ คือ
๑. สภาวะปิตตะที่อยู่ภายในอวัยวะที่ก่อโรค
๒. สภาวะปิตตะที่อยู่แกนกลางของร่างกาย

อพัทธะปิตตะ หมายถึง สภาวะปิตตะที่อยู่ภายนอกขอบเขต
แบ่ง ๒ ประการ คือ
๑. สภาวะปิตตะที่อยู่ภายนอกอวัยวะที่ก่อโรค
๒. สภาวะปิตตะที่อยู่เปลือกนอกร่างกาย

กำเดา ( ปิตตะ ) หมายถึง พลังปิตตะที่ทำให้เกิดความร้อนทั่วร่างกาย
เป็นเปลวแห่งวาโย โลหิต และสรรพสมุฏฐาน

เตโชธาตุ ( รูป ) ไม่ใช่ปิตตะ ( นาม )
ปิตตะ ( นาม ) ไม่ใช่เตโชธาตุ ( รูป )

ยส พฤกษเวช


“ ลมบาดทะจิต ”

เป็นชื่อโรคลมชนิดหนึ่ง
เป็นอาการสันนิบาต
ในตอนแรก มีอาการละเมอเพ้อพก
ประดุจผีเข้า เพราะเหตุจิตระส่ำระสาย
เป็นลมที่เกิดขึ้นในกาย ( ในหัวใจ )
พัดจากปลายเท้าถึงกระหม่อม
นานเข้าหากไม่รักษา
ทำให้มีอาการชัก ตาเหลือง ปากเบี้ยว

ในปัจจุบันพบมากในผู้ป่วยที่มีภาวะ สมองเสื่อม
หรือมีภาวะ ซึมเศร้า
เหตุที่ทำให้เกิด ลมบาดทะจิต
เกิดจากพลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ
กระทำโทษในกองปถวี พิกัด หทยัง

มูลแห่งเหตุ มาจาก ความรัก ความโลภ โกรธ หลง
อาฆาต พยาบาท อิจฉาริษยา ผิดหวังอย่างรุนแรง
ปัจจุบัน คนมีอาการ ลมบาดทะจิต
จำนวนมากแต่ไม่รู้ตัว
แพทย์แผนไทย สามารถดูแลและรักษาได้

ยส พฤกษเวช


“ ไม่กิน เพื่อสุขภาพ ”

ไม่กิน อาหารมากกว่าอิ่ม ให้กินพออิ่ม
ไม่กิน อาหารน้อยยิ่งนัก
ไม่กิน อาหารล่วงเลยเวลา ให้กินตรงเวลา
ไม่กิน อาหารหลังหกโมงเย็น

ไม่กิน อาหารแสลง
ไม่กิน อาหารที่ชอบอย่างเดียว
ไม่กิน อาหารแปลกที่ไม่เคยกิน
ไม่กิน อาหารขณะที่มีความเครียด

ไม่กิน อาหารแล้วนอน
ไม่กิน อาหารแล้วนั่งเฉย
ไม่กิน อาหารย่อยยาก
ไม่กิน อาหารผัด อาหารทอด ปิ้งย่างจนไหม้เกรียม

ไม่กิน อาหารจุกจิก
ไม่กิน อาหาร หวาน ไขมันสูง เกินไป
ไม่กิน อาหารรสจัด
ไม่กิน อาหารอุตสาหกรรม ฟาสต์ฟูด

ไม่กิน อาหารบูด อาหารเน่า
ไม่กิน อาหารตามใจปาก

ยส พฤกษเวช


“ พลาดโอกาส รักษาที่ถูกวิธี ”

“ พลาดโอกาส รักษาที่ถูกวิธี ” เป็นคำกล่าวอ้าง
จากบุคลากรแพทย์แผนปัจจุบัน
เพราะไม่ต้องการให้คนไข้รักษาแพทย์ทางเลือกอื่น

อะไร ? อย่างไร ? คือการรักษาที่ถูกวิธี
หากการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การรักษาอย่างถูกวิธี
การแพทย์ทางเลือกก็ ไม่จำเป็นต้องมี

กาลเวลาที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
การแพทย์แผนปัจจุบัน ยังไม่ใช่การรักษาอย่างถูกวิธี
แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์ทางเลือก ควรร่วมมือกัน
หาแนวทาง “ การรักษาที่เหมาะสมที่สุด ” สำหรับผู้ป่วย

“ การรักษาที่ถูกวิธี ” อาจไม่มีในโลก
“ การรักษาที่เหมาะสม ” น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

ยส พฤกษเวช


“ ยึดมั่น ถือมั่น ”

การยึดมั่น ถือมั่น ทำให้จิตมีพลัง
มีความผูกพัน ไม่สลาย ไม่หลุดพ้น
เมื่อกายดับ จิตไม่ดับ
จิตกลับมาจุติใหม่ ในรูปใหม่
เกิดภพ เกิดภูมิ ไม่สิ้นสุด

หากปล่อยวาง ไม่ยึดมั่น ถือมั่น
ก็จะไม่ก่อเกิดพลัง ไม่มีความผูกพัน
พลังจะสลายหมดไป จะไม่ก่อการเกิด
ไม่เกิดภพภูมิใหม่ หลุดพ้น

ยส พฤกษเวช


“ ปรุงอาหาร ปรุงยา ”

ปรุงอาหาร ต้องปรุงให้ถูกจริตคนกิน
ปรุงยา ต้องปรุงให้ถูกกับสมุฏฐานของโรค

ยส พฤกษเวช


“ เจ้าเรือน ”

เจ้าเรือน ความหมายทั่วไป ผู้เป็นหัวหน้า ประจำอยู่ ครอบครองอยู่
ถ้าใช้กับบุคคล หมายถึง ผู้เป็นหัวหน้าซึ่งครอบครองเรือน
ถ้าใช้กับนิสัยบุคคล หมายถึง นิสัยซึ่งประจำอยู่ ในจิตใจ เช่น มีโทสะเป็นเจ้าเรือน
ถ้าใช้ทางโหร หมายถึง ดวงดาวเจ้าของราศี

เจ้าเรือนในแพทย์แผนไทย
ใช้ในตัวบุคคล เรียกสมุฏฐานเจ้าเรือน
โดยพิจารณาช่วงปฏิสนธิ

ใช้ในฤดู เรียก ฤดูสมุฏฐาน หรือ อุตุสมุฏฐาน คือ
ฤดูร้อน มีสมุฏฐานปิตตะเป็นเจ้าเรือน
ฤดูฝน มีสมุฏฐานวาตะเป็นเจ้าเรือน
ฤดูหนาว มีสมุฏฐานเสมหะเป็นเจ้าเรือน

ใช้ในช่วงอายุ เรียก อายุสมุฏฐาน คือ
ช่วงปฐมวัย แรกเกิด ถึง ๑๖ ปี มีเสมหะเป็นเจ้าเรือน
ช่วงมัชฌิมวัย ๑๖ ปี ถึง ๓๐ ปี มีปิตตะสมุฏฐานเป็นเจ้าเรือน
ช่วงปัจฉิมวัย ๓๐ ปีขึ้นไปถึงอายุขัย มีวาตะเป็นเจ้าเรือน

ใช้ในกาล เรียก กาลสมุฏฐาน คือ
๐๖ . ๐๐ น. - ๑๐ . ๐๐ น. ; ๑๘ . ๐๐ น. - ๒๒ . ๐๐ น. เสมหะเป็นเจ้าเรือน
๑๑. ๐๐ น. - ๑๔ . ๐๐ น. ; ๒๓ .๐๐ น. - ๐๒ . ๐๐ น. ปิตตะเป็นเจ้าเรือน
๑๕ . ๐๐ น. - ๑๘ . ๐๐ น. ; ๐๓ . ๐๐ น. - ๐๖ . ๐๐ น. วาตะเป็นเจ้าเรือน

ความเข้าใจในเรื่องเจ้าเรือน สามารถนำมาทำความเข้าใจในกรณี
พิจารณา ภาวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น
ความร้อนของร่างกาย มีเจ้าเรือนอยู่ที่อุณหภูมิ ๓๖ . ๕ องศาเซลเซียส
ในบริเวณ ลูกตา ช่องปาก หลอดอาหาร ช่องคลอด
เจ้าเรือนของบริเวณดังกล่าว ต้องมีความชุ่มชื้น แห้งไม่ได้ เป็นต้น

เราสามารถนำความรู้ความเข้าใจเรื่องเจ้าเรือน มาใช้ควบคู่กับ
การใช้ชีวิตประจำวัน และการใช้รักษาคนไข้ โดยมีหลักคิดพิจารณา
คือ “ อย่าให้เสียเจ้าเรือน ” เช่น หากต้องการขับเสมหะที่บริเวณ
ศอเสมหะ ก็ไม่ควรที่จะขับเสมหะให้มากเกินไปหรือให้หมดไป
จนทำให้บริเวณดังกล่าวขาดความชุ่มชื้น หรือ หากจะลดไข้หรือ
ลดความร้อนคนไข้ ก็อย่าให้ยาลดไข้หรือความร้อน
จนคนไข้เกิดภาวะเย็น อย่างนี้เป็นต้น

ความเข้าใจเรื่องเจ้าเรือนนำมาใช้กับการกินอาหารประจำวันได้ดังนี้

ในช่วงเช้า สมุฏฐานเจ้าเรือนคือ เสมหะ ซึ่งมีภาวะเย็น
ดังนั้นในช่วงเช้าจึงไม่ควรกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น
เพราะจะทำให้เกิดภาวะเย็นเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า “ อาคันตุกะเสมหะเข้าแทรก ”
ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะเย็น หนักเนื้อหนักตัว กลับกัน
ก็ไม่ควรกินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน เพราะจะทำให้เกิดภาวะเสมหะแห้ง
นานไประบบทางเดินอาหารแปรปรวน เกิดภาวะท้องเสียได้
อาหารที่เหมาะสมควรเป็นอาหารที่มีรสสุขุม คือ ไม่เผ็ดร้อน หรือ เย็นเกินไป

ในช่วงกลางวัน สมุฏฐานเจ้าเรือน คือ ปิตตะ ซึ่งมีภาวะร้อน
ตามปกติ ร่างกายจะปรับตัว ให้ตัวร้อนขึ้นตั้งแต่ตอนเช้าและ
จะร้อนมากที่สุดในตอนกลางวัน ดังนั้นในช่วงกลางวัน
ร่างกายจะมีความร้อน จึงไม่ควรกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิร้อน
 เพราะจะทำให้เกิดภาวะร้อนเกิน เป็น “ อาคันตุกะปิตตะเข้าแทรก ”
มีภาวะร้อนเกิน จะเกิดความไม่สบายตัว ไส้ร้อน นานเข้า
จะเกิดภาวะเสมหะแห้ง ระบบทางเดินอาหารจะมีปัญหาในอนาคต
อาจมีภาวะท้องผูกพรรดึก เป็นต้น

ในช่วงกลางวันไม่ควรกินอาหารที่มีฤทธิเย็น เพราะจะทำให้
เสียเจ้าเรือนได้ ช่วงกลางวันร่างกายต้องร้อน เพื่อช่วยเรื่อง
การย่อย การขับเคลื่อน ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
ดังนั้นอาหารในช่วงกลางวัน ควรเป็นอาหารที่มีรสสุขุม ๆ
ไม่เย็น ไม่ร้อนเกินไป เพื่อไม่เสียเจ้าเรือน

ในช่วงเย็น สมุฏฐานเจ้าเรือน คือ วาตะ ในช่วงนี้
ร่างกายจะผ่อนคลายความร้อนลง เพื่อเตรียมพร้อมกับ
การพักผ่อน ในตอนกลางคืน แต่อย่างไรก็ตามร่างกาย
ยังต้องการความร้อนอยู่บางส่วนเพื่อสร้างความอบอุ่น
ดังนั้นหากต้องการกินอาหารมื้อเย็น ไม่ควรกินอาหาร
ที่มีฤทธิ์เย็น หรือฤทธิ์ร้อน ควรกินอาหารที่มีฤทธิ สุขุม ๆ
คือ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป เพราะจะเกิด ภาวะ
 “ อาคันตุกะวาตะเข้าแทรก ” ระบบการย่อยอาหารจะเกิดปัญหา
จะเกิดภาวะท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เศษอาหารตกค้าง
เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย

ดังนั้นอาหารและเครื่องดื่มในแต่ละช่วงเวลา ไม่ควรกินอาหาร
ที่มีฤทธิ์ หรือ รสเผ็ดร้อน หรือ เย็นเกินไป ควรกินอาหาร
ที่มีฤทธิ์สุขุม ๆ และควรปรับอาหารให้สอดคล้องกับฤดู
ที่เปลี่ยนแปลง ไปด้วย เช่น

ในฤดูร้อน ควรปรับอาหารให้มีฤทธิในทาง สุขุมเย็น
ในฤดูฝน ควรปรับอาหารให้มีฤทธิในทาง สุขุมร้อน
ในฤดูหนาว ควรปรับอาหารให้มีฤทธิในทาง สุขุมสุขุม

สรุป ในทางการแพทย์แผนไทย ในการรักษา หรือ
การกินอาหารในชีวิตประจำวันต้องหมั่นพิจารณา
“ เจ้าเรือน ” และ “ อย่าให้เสียเจ้าเรือน ”

บทความนี้ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมาจากความเข้าใจของตนเอง
อาจไม่ตรงกับความคิดของบางท่าน   หากท่านใดมีความคิดเห็น
เป็นอื่น ก็สามารถแสดงความคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันได้นะครับ

ยส พฤกษเวช

1 ความคิดเห็น: